(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 60 เป็นโต 3.9% จากเดิมคาด 3.7%, ปี 61 คาดโต 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 19, 2017 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 มาอยู่ที่ 3.9% จากเดิมคาด 3.7% จากการส่งออกที่ขยายตัว 9% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 8.5% (เฉลี่ย 10 เดือนแรกอยู่ที่ 9.7%) และจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัว 18% (เฉลี่ย 10 เดือนแรกอยู่ที่ 6.4%)

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 4/60 มีมาตรการภาครัฐ ทั้งมาตรการช็อปช่วยชาติ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เข้ามาชดเชยผลกระทบจากน้ำท่วม

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ 4.0% ด้วยแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน ท่ามกลางการส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่เงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%

"เศรษฐกิจไทยปี 61 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตามในปี 61 ได้แก่ กำลังซื้อประชาชนในกลุ่มฐานราก จากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอลง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง, ปัจจัยทางการเมือง ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน, ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกที่เข้าสู่การปรับตัวให้เป็นปกติ ส่งผลต่อการทยอยตึงตัวของสภาพคล่องในระบบการเงิน และอาจจะส่งผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้านั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงมีมติยืนอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมไปเรื่อยๆ เพื่อรอปัจจัยแวดล้อม ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), แผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ, ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตแข็งแรง ซึ่งหากองค์ประกอบเป็นไปในทางที่ดีก็เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 61

"ถ้าเศรษฐกิจดี ส่งออกดี การลงทุนขยายตัว เฟดขึ้นดอกเบี้ยสามครั้งอย่างที่ประกาศไว้ คงถึงเวลาที่ กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย" นายเชาว์ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวว่า ภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังไม่เผชิญภาวะฟองสบู่ ถึงแม้จะมียอดค้างอยู่ แต่ผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อนที่จะลงทุน ขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อด้วย

"สถานการณ์ยังห่างไกลปี 40 ที่เกิดภาวะฟองสบู่ ยอดค้างมันเยอะก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะธุรกิจนี้มีความยืดหยุ่นน้อย ช่วงนี้ไม่น่าจะเรียกว่าเกิดภาวะฟองสบู่" นายเชาว์ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวนั้นไม่น่าจะเกิดผลกระทบรุนแรง ทั้งนี้คาดว่าปี 61 จีนจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6.5% แต่ปัญหาที่ต้องติดตามเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันมากกว่า โดยเฉพาะการแย่งนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นเป้าหมายของทุกประเทศ

ด้านน.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ซึ่งหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากโรดแมพก็ต้องดูในรายละเอียดว่ามีเหตุผลอย่างไร

ขณะที่กำลังการผลิตในประเทศนั้นน่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้นในปีหน้าจากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 70% แล้ว ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้นหากมีผลบังคับใช้ในต้นปี 61 ก็จะน่าจะเกิดการลงทุนจริงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ