ลุ้นแผนข้าวครบวงจร..ป้องกันปัญหา Over Supply หลังคุมปริมาณผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 22, 2017 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา มีระยะดำเนินการ 5 ปี (2560-2564) ภายใต้งบประมาณ 2.58 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ตามหลักเกณฑ์ใหม่) สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันเพื่อการผลิตและจำหน่าย โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอนและสามารถลดต้นทุน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดพื้นที่ปลูก 66.69 ล้านไร่ ผลผลิต 29.50 ล้านตันข้าวเปลือกแยกได้ ดังนี้ รอบที่ 1 พื้นที่ 58.68 ล้านไร่ ข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากสุดเดือน พ.ย.คาดได้ผลผลิต 24.34 ล้านตันข้าวเปลือก การรอบที่ 2 ข้าวนาปรัง เริ่ม ธ.ค. เป็นต้นไป พื้นที่ 8.01 ล้านไร่ คาดได้ผลผลิต 5.16 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นรายชนิด ดังนี้ 1) ข้าวหอมมะลิ 8.07 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมจังหวัด 1.39 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวหอมปทุม 1.00 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้ำวเจ้า 12.20 ล้านตันข้าวเปลือก 5) ข้าวเหนียว 6.72 ล้านตันข้าวเปลือก 6) ข้าวอื่นๆ (ข้าวสีและข้าวอินทรีย์) 0.12 ล้านตันข้าวเปลือก

ตั้งเป้าผลผลิต 29.50 ล้านตัน แต่ในความจริงผลผลิตปีนี้อาจสูงถึง 32-33 ล้านตัน เกินแผน 3-4 ล้านตัน

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลการตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวนาปีฤดูกาล 2560/2561 ซึ่งผลผลิตจะออกในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.60 พบว่าเกษตรกรได้มีการลงมือปลูกข้าวจำนวนมากในทั่วทุกพื้นที่ ทำให้กังวลว่าปริมาณข้าวจะออกมามากถึง 33 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะกระทบต่อแผนส่งเสริมการปลูกข้าวครบวงจรที่ตั้งเป้าว่าจะส่งเสริมการปลูกข้าวไว้ที่ประมาณ 29.50 ล้านตันข้าวเปลือก

"คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 32.20 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดไปแล้ว 7.2 ล้านตันข้าวเปลือกและข้าวนาปีที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้รวม ประมาณ 25 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในแผนข้าวครบวงจร 29 ล้านตัน"นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สศก.กล่าว

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปพยากรณ์ผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว นาปี 2560/61 ทั้งนี้ จากการประเมินระหว่างเป้าหมายข้าวครบวงจรกับคู่มือพยากรณ์ของข้าวหอมมะลิ พบว่า เป้าหมายข้าวครบวงจร 8.07 ล้านตัน ส่วนการพยากรณ์ในเดือน พ.ย. 7.16 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจร 9 แสนตัน (11.28%) เนื่องจากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้มีปริมาณข้าวลดลง

สำหรับข้าวเหนียว พบว่า เป้าหมายข้าวครบวงจร 5.87 ล้านตัน ส่วน การพยากรณ์ในเดือน พ.ย. 5.73 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจร 0.14 ล้านตัน (2.39%) ส่วนข้าวหอมจังหวัด ข้าวหอมปทุม และข้าวเจ้าอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวตรงกันกับทุกหน่วยงานที่ลงตรวจสอบ จึงคาดว่าจะทำให้ราคาข้าวดีขึ้น ที่ผ่านมาเป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินเท่านั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคา

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ฤดูนาปี ปี 2560/61 โดยข้าวหอมมะลิ มีผลการพยากรณ์เนื้อที่เก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. รวมทั้งสิ้น 20.8 ล้านไร่ ผลผลิต 7.15 ล้านตัน แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา) สำหรับผลการพยากรณ์ข้าวเหนียวทั้งประเทศ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. รวมทั้งสิ้น 14.68 ล้านไร่ ผลผลิต รวมทั้งสิ้น 5.72 ล้านตัน

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพยากรณ์ของ สศก. พบว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกับแผนข้าวครบวงจร แต่เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้มีผลผลิตลดลงมาจากที่พยากรณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผลผลิตข้าวที่กระทรวงเกษตรฯแถลงออกมาคือข้าวเพียงแค่ 2 ชนิด คือข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว แต่ยังเหลือข้าวอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีสรุปตัวเลขออกมา ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมจังหวัด ข้าวหอมปทุม ข้าวสี ข้าวอินทรีย์ รวมทั้งข้าวเจ้าที่ประมาณการผลผลิตตามแผ้นข้าวครบวงจรไว้ 12.20 ล้านตันข้าวเปลือก ก็ต้องรอดูว่าเอาเข้าจริงผลผลิตจะออกมาเท่าไหร่ จะสูงหรือต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจร

แต่ถึงกระนั้น ปัญหาผลผลิตข้าวมากเกินความต้องการไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดวันนี้ แต่มันเกิดขึ้นทุกปี จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และที่มีส่วนในการวางแผนตลาดข้าวครบวงจรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาก่อนที่ผลผลิตข้าวจะล้นทะลักจนไม่มีที่จะเก็บ โดยเฉพาะการลงพื้นที่สำรวจเพื่อประเมินผล รวมทั้งการทำนาปรังที่เริ่มใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.60-31 เม.ย.61 ก็ต้องเข้มงวดมากขึ้นทั้งพื้นที่ปลูกและผลผลิตต่อไร่ เพื่อไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินไปและกระทบกับราคาที่ควรได้รับ และอาจส่งผลให้ข้าวไทยถูกกดราคาเมื่อไปแข่งขันในต่างประเทศ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.60 มีมติอนุมัติงบประมาณปี 2561 รวม 1,687.16 ล้านบาท จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอไป 1,747.48 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรังปี 2561 ประกอบด้วย โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายดูนาปรังปี 2561 ของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 647.48 ล้านบาท, โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรังปี 2561 ของกรมพัฒนาที่ดิน วงเงิน 240 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรังปี 2561 ของกรมปศุสัตว์ วงเงิน 860 ล้านบาท เพื่อลดรอบการปลูกข้าวเพื่อรักษาอุปทานข้าวให้สมดุลกับอุปสงค์ โดยการสนับสนุนมาตรการจูงใจให้เกษตรกรลดรอบการปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่นทดแทน

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการทำนาปรังถึง 12 ล้านไร่ แต่ถ้าทำทั้งหมดจะเกิดปัญหา Over supply ได้ จึงได้มีการคำนวณออกมาว่าอยากให้เกษตรกรทำนาปรังไม่เกิน 10 ล้านไร่ จึงจะได้ข้าวประมาณ 5-6 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะใกล้เคียงขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ทำให้ไม่กดดันไปที่ราคา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีโครงการที่จะดูแลในเรื่องการตลาดรองรับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้าวเปลือกจำนวนมาก เช่น ให้ ธ.ก.ส.เข้าไปเสริมสภาพคล่องในระบบสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้มีกำลังในการไปซื้อข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว โครงการดูแลผู้ประกอบการให้มีเม็ดเงินในการซื้อข้าวเข้ามาเก็บ โดยทางรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม โครงการชะลอการขายข้าวให้เกษตรกรหรือสหกรณ์เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาให้ตันละ 1,500 บาท เป็นต้น

อีกทั้งยังมีโครงการชดเชยลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก มีวงเงินประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส.โดยฐานข้อมูลจะมาจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องของการขึ้นทะเบียน และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการน้ำท่วม การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทที่ฐานรากของระบบเศรษฐกิจ

การจะตีกรอบให้เกษตรกรไทยทำตามแผนที่หน่วยงานขีดเส้นไว้ให้นั้นถือเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ทุกๆ ปีตัวเลขผลผลิตจึงมักจะเกินความต้องการของตลาด ทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการมาสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกษตรกรชะลอการผลิตและหาตลาดรองรับ แต่หากมองกันในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่รัฐบาลยังออกมาตรการมาช่วยเหลือเท่ากับยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมทางอ้อมให้เกษตรกรปลูกข้าวมากขึ้นหรือไม่ เพราะเกษตรกรรู้ว่าปลูกไปก็ไม่เสียหาย ถ้าข้าวราคาดีก็ดีไป เผลอๆ ปลูกแล้วยังได้เงินช่วยจากรัฐบาลอีก...นั่นแปลว่าทุกๆ ปีรัฐจะต้องเตรียมเม็ดเงินส่วนหนึ่งไว้คอยแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรล้นตลาดเป็นวงจรประหลาดแบบนี้อยู่ร่ำไปอย่างนั้นหรือ?


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ