ธ.ก.ส.เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในสัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 4, 2018 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า ธ.ก.ส.เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณาอนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐใน 3 มาตรการ และ 8 โครงการที่เหลือ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การพัฒนาตนเอง ได้แก่ โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อย และจัดทำแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล เป้าหมาย 1,007,012 ราย และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข/กอช. เป้าหมายออมเงิน 90,000 ราย

มาตรการที่ 2 การพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย เป้าหมาย 384,000 ราย วงเงิน 45,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการรัฐ เป้าหมาย 400,000 ราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท

มาตรการที่ 3 การลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. เป้าหมาย 535,137 ราย หนี้เงินกู้ 126,798 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ระยะที่ 3 เป้าหมาย 300,000 ราย ยอดหนี้ 19,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขหนี้นอกระบบ เป้าหมาย 50,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 เป้าหมาย 200,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท

"ครม.สัปดาห์หน้า ธ.ก.ส.จะเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งได้เคยผ่าน ครม.ไปแล้ว 1 โครงการในเรื่องชำระดีมีคืน ตอนนี้ก็จะเหลืออีก 8 โครงการที่จะเสนอเข้า ครม. เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" นายอภิรมย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในปีนี้การดำเนินงานของ ธ.ก.ส.จะเน้นไปที่การดูแลช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ภาคเกษตร และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่เกษตรกร

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารของ ธ.ก.ส. โดยระบุว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญของประเทศที่จะต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว ดังนั้นในระหว่างที่รัฐบาลชุดนี้ยังบริหารประเทศอยู่อีกประมาณ​ 1 ปี ก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปฏิรูปในภาคเกษตร

"ถ้าผมยังอยู่อีก 1 ปีนี้ ก็ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง อยากให้ ธ.ก.ส.เป็นกำลังพุ่งไปข้างหน้า และกระทรวงเกษตรฯ จะเป็น back ให้ เราหวังจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรของไทย" นายสมคิด กล่าว

พร้อมกันนี้ได้ขอให้ ธ.ก.ส.ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพเพื่อเกษตรกรในลักษณะเดียวกันกับที่ธนาคารพาณิชย์มีลูกค้าของตัวเองเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยให้มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเงินทุนในการจัดตั้งกิจการ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันต้องการให้ ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้แก่เกษตรกร เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ที่ 7% จะสามารถปรับลดลงได้หรือไม่ ซึ่งฝากให้ รมว.คลังเข้าไปช่วยพิจารณาในส่วนนี้ด้วย

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า นายสมคิดได้มอบหมายนโยบาย 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ให้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจน 30,000 บาทต่อปี โดยในส่วนของเกษตรกรที่มาลงทะเบียนคนจนปัจจุบันมีจำนวน 3.9 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.กว่า 1 ล้านราย และเกษตรกรทั่วไปอีกกว่า 2 ล้านราย ผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น โดยจะเสนอพร้อมกับมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 2 เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

เรื่องที่ 2.แก้ปัญหาโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยปัจจุบันสาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากไม่เคยมีการปฏิรูปมากว่า 40-50 ปี ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามาขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือเกษตรกรปลูกพืชที่ไม่สามารถขายได้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ต่างประเทศมีการปลูกผลผลิตที่สามารถขายได้ดีกว่า จนทำให้กลายเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลกได้ ซึ่งส่งผลให้สินค้าเกษตรจากไทยขายไม่ได้ราคา และมีต้นทุนสูง สั่งให้ ธ.ก.ส.ไปหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจน ภายในไตรมาส 1/2561 เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเป็นการเร่งด่วน

"ถ้าปฏิรูปตอนนี้ แม้จะต้องใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนตามแผนอยู่เยอะ แต่ก็จะทำให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว ปลูกสินค้าที่มีความต้องการของตลาดได้ ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถขายได้ ก็จะลดลง ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุดหนุนราคาอีก จึงฝากให้ ธ.ก.ส.และกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปทำแผนร่วม เชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ มีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว เช่น การจัดโซนนิ่ง การใช้ตลาดเป็นตัวนำ ก็เป็นแผนหนึ่ง ส่วนจะใช้งบประมาณในส่วนใดก็ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของแผน" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น หากเป็นเรื่องนโยบาย ฝ่ายบริหารของธนาคารก็ต้องรับไปพิจารณาดำเนินกา แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. ก็ไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์อื่น เนื่องจากมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร และในส่วนนี้ก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ก็น่าจะไปลดในส่วนอื่นๆ เช่น ต้นทุนการบริหารจัดการ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ