สศก.เผยทิศทางมันสำปะหลัง-ยางพารา Q1/61 ราคาขยับขึ้น ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย-ได้มาตรการรัฐช่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 8, 2018 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญในช่วงไตรมาส 1 (มกราคม – มีนาคม 2561) ของสินค้ามันสำปะหลัง และยางพารา โดยเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและการตลาดแต่ละสินค้า พบว่ามันสำปะหลัง ปี 2561 คาดว่ามีผลผลิต 28.57 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 8% เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าโดยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดปริมาณ 14.36 ล้านตัน คิดเป็น 50% ของผลผลิตหัวมันสด

ราคาเดือนมกราคม 2561 หัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.01 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา 36% สำหรับราคาส่งออกมันเส้นเฉลี่ยตันละ 6,786 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12% และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง เฉลี่ยตันละ 13,795 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา 25% ซึ่งสาเหตุที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลงจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ ประกอบกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับสูงขึ้นรวมถึงคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เห็นขอบแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/61 รวม 14 โครงการ งบประมาณ 551.659 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหามันสำปะหลังทั้งระบบ

ยางพารา ปี 2561 คาดว่ามีผลผลิต 4.92 ล้านตันยางดิบ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9% เนื่องจากในทุกภาคปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ต้นยางสมบูรณ์ดี โดยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาด 21% ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พื้นที่ส่วนใหญ่หยุดกรีดยาง ผลผลิตจึงมีน้อย และจะเริ่มเปิดกรีดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม จะออกสู่ตลาด 8% และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน – ธันวาคม คิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งปี

ราคาปี 2561 ราคาที่เกษตรกรขายได้คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 เป็นช่วงที่พื้นที่ส่วนใหญ่ใกล้หยุดกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และผู้ประกอบการมีความต้องการยางในการส่งมอบ ประกอบกับมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางจากหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร การควบคุมปริมาณผลผลิต (การหยุดกรีดยางในพื้นที่ภาครัฐ) และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งมีมาตรการควบคุมการส่งออก (AETS) ภายใต้สภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) โดยการควบคุมปริมาณการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกหลัก (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ในช่วงดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ