(เพิ่มเติม1) ธปท.เผย ม.ค.61 ศก.โตต่อเนื่องตามส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชน ด้านใช้จ่ายภาครัฐฟื้นโต-ลงทุนเอกชนโตเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 28, 2018 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.61 ขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากรายจ่ายลงทุน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาพลังงานและอาหารสด อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกิน

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนม.ค.61 ขยายตัวสูงที่ 16.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน และหากหักทองคำขยายตัว 18.1% ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขยายตัวจากด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์โดยเฉพาะยางล้อ 3.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขยายตัวดีตามการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า 4.สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลัง

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวสูงมาจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับผลของวันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่ในปีนี้อยู่ในเดือนก.พ. ทำให้กิจกรรมการค้าระหว่างประเทศเลื่อนขึ้นมาอยู่ในเดือนม.ค.มากเป็นพิเศษ

"การส่งออกในเดือน ม.ค.ที่ขยายตัวสูงมากจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับผลของวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ที่อยู่ในช่วงเดือน ก.พ.ทำให้กิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศเลื่อนขึ้นมาอยู่ในเดือน ม.ค.แทน ซึ่งแนวโน้มการส่งออกทั้งปีเชื่อว่าจะยังขยายตัวได้ ส่วนจะดีขึ้นเท่าใดจากที่คาดการณ์ไว้ 4% จะต้องขอรอดูทิศทางในช่วงเดือน ก.พ.และการตัดสินใจของ กนง."นายดอน กล่าว

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 10.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ผลของฐานต่ำจากการปราบปรามทัวร์จีนผิดกฎหมายที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้วจะหมดลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในทุกกลุ่มหลัก ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ทรงตัว

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงที่ 22.5% จากระยะเดียวกันปีก่อนและหากหักทองคำขยายตัว 28.6% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำจากการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนในปีก่อน โดย 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าเชื้อเพลิงซึ่งขยายตัวทั้งด้านราคาและด้านปริมาณ และการนำเข้าโลหะ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในทุกกลุ่มสินค้า 3) หมวดยานยนต์ ขยายตัวตามการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์นั่ง สอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายยรถยนต์ที่ขยายตัวดี และ 4) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่กลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานหลัก ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.68% ชะลอลงจาก 0.78% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยายตัวชะลอลงจากผลของฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ยังคงหดตัว หลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน โดยด้านสินทรัพย์เป็นการไหลกลับสุทธิจากการถอนเงินฝากและตราสารหนี้ที่ครบกำหนดของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) และด้านหนี้สินเป็นการไหลเข้าสุทธิจากการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะในตราสารหนี้ สอดคล้องกับการกลับมาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค การเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการได้รับสินเชื่อทางการค้าของผู้นำเข้าตามมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวดี

นายดอน กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยยังมองว่าไม่เกิน 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงได้มีการหารือในเรื่องนี้ ซึ่งตามทฤษฎี หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่างกับอัตราดอกเบี้ยไทย ซึ่งช่วยลดแรงกดดันเงินทุนไหลเข้า และมีผลให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ