(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ. ขยายตัว 0.42%, CORE CPI โต 0.63%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2018 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ เดือนก.พ.61 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 101.21 ขยายตัว 0.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดโต 0.7% และหากเทียบเดือน ม.ค.61 ลดลง 0.23% เป็นผลจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับลดตามการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อต้นทุนนำเข้าราคาน้ำมันดิบที่ถูกลง รวมทั้งสินค้ากลุ่มอาหารสดลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/60 เนื่องจากผลผลิตมีมาก

ส่วน Core CPI เดือน ก.พ. อยู่ที่ 101.71 ขยายตัว 0.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.07% จากเดือน ม.ค.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.20 ลดลง 0.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยสินค้าที่ปรับราคาลง ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง, เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, ผักและผลไม้ และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับตัวลงตามราคาน้ำตาลทรายที่ปล่อยลอยตัวตามราคาตลาดโลก โดยหากคำนวณเฉพาะราคาน้ำตาลทรายปรับลดลง 1.75% ส่วนสินค้าในหมวดนี้ที่ปรับราคาขึ้น คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์, อาหารบริโภคนอกบ้าน-ในบ้าน แต่ปรับขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.22

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2561 อาจส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 61 ที่ 0.7-1.7% ภายใต้สมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 61 อยู่ที่ 3.6-4.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าเงินบาท 32-34 บาท/ดอลลาร์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.พ.61 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับจากเดือนก.ค.60 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.พ.) สูงขึ้น 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ 2.5% บวก/ลบ 1.5% มากขึ้น

"เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ถือเป็น demand pull ไม่ได้เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (cost push) สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนในเศรษฐกิจระดับฐานราก รัฐต้องคงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นต่อไป" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับไตรมาส 2/60 น.ส.พิมพ์ชนก คาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 1/60 เพราะมีช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะจับจ่ายใช้สอย และเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ