(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯมองมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐกระทบจำกัดไม่บานปลาย, คงเป้า GDP ปีนี้ 4% ส่งออกโต 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2018 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น แม้จะประกาศใช้หลากหลายมาตรการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและประเภทสินค้าต่างกันออกไป แต่จากขั้นตอนการปฏิบัติที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงน่าจะส่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในขอบเขตจำกัด และนำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้ารายประเทศ โดยเชื่อว่าจะไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามการค้า

อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมถึงไทย โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบเฉพาะหน้า หลักๆ ยังคงเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้จีน 45 วันเพื่อเข้ามาเจรจากันก่อนที่จะถึงวันประกาศใช้มาตรการทางการค้าดังกล่าวในช่วงต้นเดือน พ.ค.61 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยยังมีความเสี่ยงจากการติดในรายชื่อการรายงานประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งมีนัยถึงข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ อันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในจังหวะที่รวดเร็วและผันผวน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการกีดกันสินค้าไทยโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป "ตอนนี้ ไทยเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ ที่สหรัฐเตรียมจะประกาศช่วงเดือน เม.ย.ในรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่มีการบิดเบือนค่าเงิน คือ เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่าปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี ซึ่ง 2 ข้อนี้ทำให้ไทยถูกสหรัฐฯ จับตา เพราะจะมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น และอาจส่งผลกดดันให้เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นได้อีก"นายศิวัสน์ กล่าว น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ไว้ที่ 4.0% โดยมองว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในเริ่มมีความสมดุลกันมากขึ้น ทั้งนี้แรงหนุนหลักยังมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางด้านการค้าโลก การส่งออกไทยยังสามารถขยายตัวได้เป็นบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพการค้าโลกที่แข็งแกร่งในปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้การส่งออกของไทยสามารถเติบโตได้มากกว่า 4.5%

โดยปัจจัยที่ยังเป็นประเด็นท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มี 3 เรื่องหลัก คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังหดตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี จากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะนำมาซึ่งการตอบโต้ทางการค้าจากจีนนั้น อาจทำให้ในช่วงเดือนเม.ย.-ต้นเดือนพ.ค.นี้ จะมีการเร่งส่งออกสินค้าไทยไปประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศจีนในช่วงกลางเดือนพ.ค. ซึ่งนั่นหมายถึงการส่งออกไทยในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ อาจมีและมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากสาเหตุดังกล่าว

ด้าน น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทจะยังมีต่อเนื่องมาถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จากผลของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในปีนี้มีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ประเทศไทยติดอยู่ 2 ใน 3 ของเงื่อนไขที่เสี่ยงต่อการเข้าไปอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามในบัญชีรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) นั้นจะสร้างความผันผวนของค่าเงินบาทให้เพิ่มขึ้น โดยมีโอกาสทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 31.20 บาท/ดอลลาร์

"หากมีประเด็นความไม่แน่นอนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เงินบาทก็จะยังไม่กลับไปอ่อนค่า ด้วย cycle ของดอกเบี้ยเฟด ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แม้จะมีความไม่แน่นอนต่างๆ แต่สหรัฐฯ ก็ยังขึ้นดอกเบี้ยได้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะยังขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่ผลที่จะส่งมาถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ยังมีค่อนข้างน้อย" น.ส.กาญจนาระบุ

พร้อมเชื่อว่า ในช่วงไตรมาส 2 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีสัญญาณจากการประชุม กนง.รอบล่าสุดเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ที่กรรมการ กนง. บางคนเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่เป็นน้ำหนักจะทำให้ กนง.พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ คือ 1.ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ก็อาจทำให้เห็นทิศทางดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับขึ้นได้ 2.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลังจากนี้อย่างเด่นชัด ซึ่งจะทำให้มีการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้

น.ส.กาญจนา ยังกล่าวถึงแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 61 ว่า คาดว่าจะเติบโตได้ 4.8% ดีขึ้นจากระดับ 4.6% ในปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อที่เติบโตได้ดี คือ สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อรายย่อยนั้น ยังเติบโตได้ในกรอบที่จำกัดตามกำลังซื้อในภาพรวมที่ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว ประกอบกับฐานในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

สำหรับสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.93% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.91% ในปีก่อน โดยยังคงต้องจับตาคุณภาพของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังไม่มีผลกระทบต่อแนวโน้มสินเชื่อ และ NPL ของธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ