ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอประเมินภาวะ ศก.สหรัฐ-ข้อพิพาทการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2018 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินรอบที่สามของปี 61 ในวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ เพื่อรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนความเสี่ยงจากประเด็นข้อพิพาทการค้า

ทั้งนี้ในรายงานเศรษฐกิจของเฟดเดือน เม.ย.61 ได้มีการระบุถึงความกังวลจากผลกระทบของมาตรการกีดดันการค้าที่อาจจะกระทบต่อภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยผลของมาตรการกีดกันการค้าที่สหรัฐฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่มีการขึ้นภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจต่างก็คาดการณ์ว่าราคาสินค้าดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

โดยภายใต้สถานการณ์ที่สหรัฐฯ มีความพยายามที่จะปรับลดการขาดดุลการค้ากับหลายๆ ประเทศ อาจส่งผลให้โอกาสที่สหรัฐฯ จะขยายการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารายการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในปลายเดือน พ.ค.61 หากการเจรจาในการปรับลดการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งผลให้พัฒนาการของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ อาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อันคงเป็นปัจจัยที่เฟดคงจับตามองอย่างใกล้ชิด

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมรอบสามของปีนี้ โดยเฟดน่าจะยังรอประเมินพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาการประเด็นความเสี่ยงด้านการค้าที่น่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ก่อนที่จะมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะที่พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอาจจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทย และช่วยให้ค่าเงินบาททยอยปรับอ่อนค่าลง ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามคงได้แก่ การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พ.ค.61 ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้

เครื่องชี้ในตลาดแรงงานยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง โดยการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน มี.ค.61 ปรับเพิ่มขึ้น 103,000 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของการปรับขึ้น 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 202,000 อันสูงกว่าระดับการปรับเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในระยะยาวของเฟดที่ 100,000 ตำแหน่งต่อเดือนค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ หากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรยังคงเกิดขึ้นในขนาดปัจจุบัน อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีอาจจะไปอยู่ที่ระดับ 3.6-3.7% ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น อันคงจะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ปรับเดือน มี.ค.61 อยู่ที่ระดับ 2.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 2.2% ขณะที่คาดการณ์การเงินเฟ้อระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2.17% อันเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นอกจากนี้ผลจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต หากสหรัฐฯมีการขยายขอบเขตการใช้มาตรการดังกล่าวออกไป ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มที่แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ยังคงสนับสนุนให้เฟดสามารถที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พ.ค.61 ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ระดับ 3.0% โดยปรับตัวขึ้นประมาณ 0.7% จากช่วงต้นปี 2561 อันสะท้อนมุมมองที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับขึ้นมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้

อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก อันอาจจะสร้างความผันผวนรอบใหม่ให้กับตลาดการเงิน ตลอดจน กดดันให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกมีโอกาสที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตาม ทั้งนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.61 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะมีการประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะ หลังจากที่มาตรการปรับลดภาษีของสหรัฐฯ มีผลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดยหากปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับ การเร่งจังหวะของการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดจะปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 30 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ในปัจจุบัน เป็น 40 และ 50 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือนในไตรมาส 3/2561 และไตรมาส 4/2561 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ใน 4 ของประมาณอุปทานในปัจจุบัน อาจจะส่งผลให้ตลาดมีการปรับตัวอีกครั้ง อันจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินรอบใหม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ