(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออก คาดเป้าหมายการส่งออกของไทยปี 61 โต 8% สอดคล้องพาณิชย์ จับตาเงินบาทใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2018 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 61 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 8% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ หลังจากมูลค่าการส่งออกเดือนมีนาคม 2561 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่น่าเป็นกังวลคือเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงถึง 4%

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยปีนี้มีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.คู่ค้าตลาดหลักและตลาดรองมีพื้นฐานเศรษฐกิจดี ส่งผลให้มูลค่าการค้ากับไทยขยายตัวเกือบทุกประเทศคู่ค้า ยกเว้นจีนที่ยังทรงตัว 2.ไทยมีการกระจายโครงสร้างตลาดการส่งออกได้ดี โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลัก 30.4% ที่เหลือเป็นการส่งออกไปตลาดศักยภาพและตลาดอื่นๆ จึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากตลาดหลักได้ 3.ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สามารถปรับตัวรองรับการผลิตเทคโนโลยีตามกระแส Internet of Things (IOT) 4.ทิศทางราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังมีข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มปรับขึ้นตาม 5.กระแสการผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ ช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1.สงครามการค้า ที่ยังมีความไม่แน่นอน 2.สถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย ที่แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นจุดยุทธศาสตร์ของน้ำมันดิบ ทำให้มีความเปราะบางสูงต่อสถานการณ์ความรุนแรง ดังนั้นจึงต้องคอยติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่แท้จริงจะได้รับการแก้ไขอย่างไร 3.สถานการณ์สินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังมีปัญหา เช่น ยาง, สับปะรด โดนกดดันจากราคาตกต่ำและการส่งออกหดตัวเกือบทุกตลาด, มันสำปะหลัง ราคาดีแต่ขาดแคลนผลผลิต, น้ำตาล ผลผลิตล้นตลาด เป็นต้น

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะสำคัญไปยังรัฐบาล คือ 1. ภาครัฐควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดยใช้โอกาสนี้หาช่องทางผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนตลาดคู่ค้าหลักของทั้ง 2 ประเทศ 2.ภาครัฐควรติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า (NTB) พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว 3.สร้างความเข้าใจเรื่องการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน 4.เร่งเจรจาการค้าเสรี และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี 5.ภาครัฐควรติดตามและเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกที่อาจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ขายในประเทศจากธุรกิจข้ามชาติ รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการค้าในระบบ B2B Cross Border e-Commerce ให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ผู้ส่งออกยังมีความกังวลเรื่องเงินบาทแข็งค่า โดยสถานการณ์ยังมีความผันผวน แม้ขณะนี้เงินบาทจะอ่อนค่าจากช่วงต้นปี โดยเงินบาทเคลื่อนไหวตามที่ สรท.เคยคาดการณ์ไว้ในกรอบ 31.00-32.00 บาท/ดอลลาร์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ควรทำประกันความเสี่ยงไว้

ส่วนสถานการณ์ค่าระวางมีแนวโน้มสูงขึ้นเกือบทุกเส้นทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง เช่น เส้นทางยุโรปอยู่ที่ 774 ดอลลาร์/TEU เพิ่มขึ้นจากปลายเดือน มี.ค.ถึง 141 ดอลลาร์, เส้นทางสหรัฐด้านชายฝั่งตะวันตกอยู่ที่ 1,403 ดอลลาร์/TEU ส่วนด้านชายฝั่งด้านตะวันออกอยู่ที่ 2,371 ดอลลาร์/TEU เพิ่มขึ้นกว่า 200 ดอลลาร์ และในช่วงไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลของจีนกลับมาเพิ่มมากขึ้นหลังชะลอตัวในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐฯ จะมีมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านนั้น คงต้องติดตามผลกระทบต่อไป โดยในส่วนของการส่งออกคงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยกเว้นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ส่วนกรณีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั้นจะเป็นผลดีต่อการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ