กลุ่มเหล็ก หนุนพาณิชย์แก้กม.ทุ่มตลาด ช่วยแข่งขันเป็นธรรม-มั่นใจเหล็กไม่ขาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2018 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่มีกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าเหล็กออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ ชะลอการแก้ไขพระราชบัญญัติตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ที่กำหนดให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention : AC) โดยกังวลว่าจะทำให้เกิดการฮั้วราคาของผู้ผลิตในประเทศและทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระซื้อสินค้าเหล็กราคาแพงขึ้น รวมทั้งอาจเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศนั้น เห็นว่าการเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่เพียงเฉพาะสินค้าเหล็กเท่านั้นแต่บังคับใช้กับสินค้าทุกประเภทที่ผู้ส่งออกต่างประเทศมีพฤติกรรมส่งออกสินค้าเข้ามาทุ่มตลาด โดยมีเจตนาหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า เป็นกฎหมายสากลที่มีการบังคับใช้แพร่หลายทั่วโลก เพื่อช่วยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสหรัฐฯและ สหภาพยุโรป ที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้มานานแล้ว

สำหรับกรณีที่ผู้นำเข้าเหล็กมีความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศกำหนดราคาได้ตามอำเภอใจนั้น ในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยาก เพราะสินค้าเหล็กเป็นสินค้าควบคุมที่มีการตรวจติดตามอย่างเข้มงวดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำให้การจำหน่ายสินค้าต้องสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังมี พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มีการควบคุมและป้องกันการผูกขาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าที่เท่าเทียมกันในประเทศ

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) กล่าวว่า ผู้ส่งออกเหล็กต่างประเทศอาศัยช่องว่างของกฏหมายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติในเรื่องมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด ด้วยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การเคลือบสีอย่างหยาบ การเจือธาตุอัลลอยด์เพียงเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร หรือการนำเหล็กหน้ากว้างที่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ถูกเรียกเก็บอากรทุ่มตลาดมาตัดแผ่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว ยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บอากรทุ่มตลาดอีกด้วย ดังนั้น จึงอยากขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกฏหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าโดยเร่งด่วน

สำหรับข้อกังวลของผู้นำเข้าว่าจะเกิดการขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศหากมีการบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการการค้านั้น ขอยืนยันว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กทรงยาวและทรงแบนรวมกันประมาณ 20 ล้านตัน แต่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 30-40% เท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่ามีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในการบังคับใช้มาตรการทางการค้าโดยปกติจะมีการยกเว้นการบังคับใช้สำหรับสินค้าเหล็กคุณภาพสูงที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศรวมถึงสินค้าเหล็กที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว

ด้านนายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กล่าวว่า ปัจจุบันการบังคับมาตรการทางการค้าที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเอดี เซฟการ์ด ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยังมีช่องโหว่ให้ผู้นำเข้าหลบเลี่ยงภาษี เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง Anti-Circumvention ในพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ มีโอกาสสูงที่ผู้ส่งออกต่างประเทศที่ขายไปสหรัฐไม่ได้หลังจากสหรัฐประกาศใช้มาตรา 232 ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็ก 25% จะระบายสินค้าของมายังประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะมีการนำเข้าเหล็กที่มีเจตนาหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าเข้ามามากขึ้นด้วย

"ที่ผ่านมาผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเคยเจอกรณีที่กรมศุลกากรตรวจพบการหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาดของเหล็กแผ่นเคลือบอลูมิเนียมผสมสังกะสี ที่สำแดงศุลกากรพิกัดเท็จเข้ามาเป็นเหล็กเคลือบสังกะสี และตอนนี้ทราบข่าวว่าเริ่มมีการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเคลือบสังกะสี แต่สำแดงพิกัดศุลกากรเป็นเหล็กรีดเย็นเคลือบสังกะสี เข้ามาจำนวนมากด้วย"นายพงศ์เทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ