พาณิชย์ นัดถกมหาดไทย-เกษตรฯ ร่วมจัดทำแผนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร 28 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 22, 2018 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดทำแผนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรให้ยั่งยืนแบบครบวงจร เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวนและตกต่ำ

โดยวันที่ 28 มิ.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดแรก เน้นการกำหนดพื้นที่สินค้าเกษตร (โซนนิ่ง), การสนับสนุนโรงงานแปรรูปในแต่ละพื้นที่, ร่วมมือกับเอกชนเชื่อมโยงตลาดสินค้า และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นต้น

"ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มาจากเกษตรกรแห่ปลูกพืชชนิดนั้นๆ เพราะเห็นว่ามีราคาดีมาก แต่พอ 2-3 ปีให้หลัง ผลผลิตออกมาเยอะจนล้นตลาด จึงทำให้ราคาตกต่ำ ดังนั้น การร่วมมือกันหลายๆ หน่วยงาน จะแก้ปัญหาได้แบบครบวงจรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด, สับปะรด, กระเทียม เป็นต้น" อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว

พร้อมระบุว่า จะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานให้มากขึ้น เพื่อให้สินค้ามีแหล่งรองรับที่แน่นอน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เช่น สับปะรด ที่ผลผลิตแปรรูปแล้วส่งออกถึง 90% ดังนั้น เกษตรกรที่ไม่ทำสัญญากับโรงงานก็จะเกิดปัญหาขายผลผลิตไม่ได้ เช่น เกษตรกรในภาคเหนือปลูกสับปะรดกันมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีโรงงานแปรรูป จึงต้องส่งมาที่โรงงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกหลายแห่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ โรงงานส่งออกจึงไม่กล้ารับซื้อ เพราะต่างประเทศให้ความสำคัญกับการทำลายสิ่งแวดล้อม

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในเร็วๆ นี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอนุมัติมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว (จำนำยุ้งฉาง) และสินเชื่อการสร้างยุ้งฉาง เนื่องจากชาวนาหลายพื้นที่ยังไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว หรือมียุ้งฉางเก่าชำรุด

"ช่วงนี้ที่ผู้ส่งออกและโรงสีบางรายไม่รับซื้อข้าว เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้การขนย้ายข้าวลงเรือเพื่อส่งออกล่าช้า ทำให้เกิดภาระสต็อกข้าว อย่างไรก็ดี กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสต็อกข้าวผู้ประกอบการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. คาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 25 มิ.ย.นี้" อธิบดีกรมการค้าภายในระบุ

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าว ปี 61/62 รอบที่ 1 เป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก 58.21 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 8.84% จากปีที่ผ่านมาที่มีพื้นที่ 53.48 ล้านไร่ ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนก.ย.61 เป็นต้นไป ส่วนรอบ 2 เป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก 12.21 ล้านไร่ ลดลง 5.13% จากปีที่ผ่านมา ที่มีพื้นที่ 12.87 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ