(เพิ่มเติม) สศค.เผยเศรษฐกิจ พ.ค.ยังโตต่อเนื่อง-ลงทุนเอกชนมีสัญญาณฟื้น-รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงรอบ 13 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.61 ว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ 9.0% ต่อปีสูงสุดในรอบ 13 เดือน ทำให้คาดว่าการบริโภคในระดับฐานรากจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึง 26.8% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 3.0% ต่อปี โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวที่ 2.6% ต่อปี และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 7.7% ต่อปี นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.9

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีอย่างชัดเจนสะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงที่ 28.6% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 25.3% ต่อปี ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.3% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัว 8.1% ต่อปี นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 59 เดือน นับจากเดือน มิ.ย.56 ที่ขยายตัวที่ 9.9% ต่อปี นอกจากนี้ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 9.1% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 3.8% ต่อปี ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับจากเดือน ต.ค.60 ที่ขยายตัว 4.2% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ที่สูงขึ้น 4.5% ต่อปี และดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 13.0% ต่อปี

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 และเป็นการขยายตัวในระดับสูงถึง 11.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในตลาดสำคัญเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและขยายตัวในระดับ 2 หลัก ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัว 34.9% 21.1% และ 3.5% ต่อปีตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 21.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.7% ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้าทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค.61 กลับมาเกินดุลจำนวน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมและรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.0% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัว 22.3% 0.6% และ 22.6% ตามลำดับ สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.76 ล้านคน ขยายตัว 6.4% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง อินเดีย และลาว เป็นต้น และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 136,710 ล้านบาท ขยายตัว 9.0% ต่อปี ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวได้ดีที่ 9.0% ต่อปี ซึ่งถือเป็นขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือน เม.ย.60 ที่ขยายตัว 33.7% ต่อปี โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในเกษตรกรบางกลุ่ม ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน พ.ค.61 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศและภาคการส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.61 อยู่ที่ 1.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.56% โดยการเพิ่มขึ้นมีที่มาสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.61 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.0 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานที่ต่ำสุดในปี 2561 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน เม.ย.61 อยู่ที่ 41.0% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ค.61 อยู่ที่ระดับ 212.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.6 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ