(เพิ่มเติม) สรท.คงเป้าส่งออกปีนี้โต 8% เชื่ออุปสงค์คู่ค้าแข็งแกร่ง-บาทอ่อนช่วยหนุนการแข่งขันของสินค้าไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2018 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท.ยังคงเป้าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโตที่ 8% แต่ได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ส่วนผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าคงยังไม่เห็นผลในเร็ววันนี้ อย่างน้อยต้องรออีก 2-3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

โดยการส่งออกยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ประกอบด้วย 1.อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้า ทั้งในระดับตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 2.การขยายตัวการค้าส่วนหนึ่งจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องอันแสดงถึงการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต 3.ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อภาคส่งออกของไทย อันเป็นมุมมองจากตัวเลขมูลค่าการส่งออก, มูลค่าคำสั่งซื้อ และมูลค่าสินค้าคงคลัง

4.แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการไทยในรูปเงินบาท และ 5.นโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยรัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับ Global Platform เพื่อเปิดตลาดผู้บริโภคและมีนโยบายผลักดัน National e-Market Place Platform

อย่างไรก็ดี สรท.ยังนำเสนอประเด็นที่อาจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทย คือ 1.สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) ที่ทวีความรุนแรงพร้อมกับการออกนโยบายตอบโต้ทางการค้าของฝ่ายตรงข้าม และการขยายผลไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศขยายตัวลดลง และส่งกระทบทางอ้อมต่อประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ global supply chain

2.ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) กลับไปยังสหรัฐฯ อันจะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ที่ผู้ส่งออกไทยควรจับตามองและทำประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs

3.ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก็สหุงต้มปรับตัวขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น อันส่งผลต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม

4.มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 232 ต่อประเทศที่ได้ดุลการค้า ส่งผลต่อกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในภาคการส่งออกของไทย

5.ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง และประกาศกรมศุลกากรที่ 134/2561 เรื่องการยื่นบัญชีรายการสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการส่งออกที่ขายสินค้าผ่าน Trader และกรณีที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อเร่งด่วน เป็นต้น

6.สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่ออีก 1 ปี

7.สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรบางรายการ ใน 5 เดือนแรกของปี 2561 สินค้าเกษตร, อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ขยายตัวได้ดีเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป และผักผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป ยกเว้น สับประรด และยางพารา ที่โดนกดดันจากสถานการณ์ราคาตกต่ำกว่าต้นทุน และเป็นการหดตัวในเกือบทุกตลาด เนื่องจากปริมาณผลผลิตจำนวนมากล้นตลาด และโรงงานแปรรูปสับประรดไม่สามารถรับซื้อผลผลิตได้อีก น้ำตาลที่ผลผลิตล้นตลาด และโดนปัจจัยกดดันทางราคาจากการเร่งการส่งออกน้ำตาลของบราซิลเพื่อชดเชยค่าเงินบราซิลเลี่ยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก และมะพร้าวที่ราคาตกเนื่องจากการเปิดเสรีในการนำเข้าและการลักลอบนำเข้า ในขณะที่ลำไย และทุเรียนกำลังโดนมาตรการกีดกันการค้าจากประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.ภาครัฐควรเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) โดยใช้โอกาสหาช่องทางดันผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าไปทดแทนในตลาดคู่ค้าหลักทั้งสองประเทศ 2.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การสิทธิประโยชน์ ภายใต้กรอบ FTA หรือกรอบความตกลงทางการค้าอื่นเพื่อทดแทนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรม 3.ผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจา 4.ผู้ส่งออก SMEs ควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

5.ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการทำวิจัย (Research and Development; R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เผชิญกับภาวะราคาสินค้าตกต่ำ 6.ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า 7.ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. คาดว่า ปัจจัยสงครามการค้าจะมีผลต่อสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง บานปลายไปยังห่วงโซ่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องจับตามองเป็นพิเศษ

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. คาดว่า สถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาสงครามการค้ายังไม่ส่งผลกระทบ แต่ต้องจัดเก็บข้อมูลและเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเร่งส่งออกให้มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยค่าระวางเรือในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หากการส่งออกของปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ยอดส่งออกอาจมากกว่า 8% ก็ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ