รฟม.ผนึก KTB พัฒนาตั๋วร่วมให้บัตรคนจนใช้เดินทางรถไฟฟ้า MRT 200บาท/คน/เดือน ขึ้นทะเบียน 6 ก.ค.-30 ก.ย.61 ทุกสถานี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2018 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ได้ร่วมมือกับ กรมบัญชีกลาง และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประชาชนจะใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง สำหรับรองรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในเขต 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

โดยรฟม.จะเปิดให้ผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่อยู่ใน กทม.และปริมณฑลจำนวน 1.3 ล้านใบ มาขึ้นทะเบียนก่อนจึงจะสามารถใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT ได้ โดยได้จัดเตรียมจุดให้บริการขึ้นทะเบียนบัตรฯ ไว้ภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2561 ถึง วันที่ 30 ก.ย. 2561 ระหว่างเวลา 11.00 - 20.00 น. และเริ่มใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT ได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป

ภายในบัตรมีวงเงินสำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT และรถโดยสารประจำทางขสมก. รวมกันในวงเงิน 500 บาท/คน/เดือน ซึ่งรฟม.ได้คาดว่าจะมีผู้ถือบัตรดังกล่าวใช้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT เฉลี่ย 200 บาท/คน/เดือน จากจำนวนผู้ถือบัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 1.3 ล้านคน

ในช่วงแรกของการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประเภทที่มี 2 ชิปการ์ด จะสามารถใช้ได้เพียงการโดยสารระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วงเท่านั้น ส่วนการโดยสารรถประจำทางขสมก.ผู้โดยสารสามารถโชว์บัตรโดยสารให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งทางขสมก.จะให้ผู้โดยสารที่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประเภท 2 ชิปการ์ด ใช้บริการฟรี และภายหลังจากการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรเสร็จสิ้นผู้ถือบัตรสามารถแตะบัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ในถประจำทางขสมก. ซึ่งภายในเดือนต.ค.นี้จะขยายการให้บริการบัตรตั๋วร่วมแมงมุงไปทั้งรถประจำทางขสมก.และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

อย่างไรก็ตาม การเติมเงินในบัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประเภท 2 ชิปการ์ด ผู้ถือบัตรสามารถเติมเงินเพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าที่รับบัตรได้ แต่ยังไม่สามารถใช้ในการโดยสารระบบรถไฟฟ้า MRT ได้ เนื่องจากเครื่องอ่านบัตรไม่สามารถอ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประเภท 2 ชิปการ์ดได้ ซึ่งกระเป๋าเงินของบัตรดังกล่าวที่ใช้เติมเงินเป็นชิปที่หัวอ่านของเครื่องที่ติดตั้งในระบบรถไฟฟ้า MRT ไม่สามารถอ่านได้ โดยที่จะต้องรอการเปลี่ยนหัวอ่านและพัฒนาชิปบัตรใหม่ในรูปแบบ EMV ซึ่งจะเริ่มใช้ภายในเดือนธ.ค. 62

โดยที่ระบบชิปบัตรโดยสารตั๋วร่วมแมงมุมแบบ EMV นั้นจะเป็นชิปที่อยู่ไนบัตรเครดิตของธนาคารผู้ออกบัตร ซึ่งผู้ถือบัตรเครดิตสามารถใช้งานชำระค่าสินค้าและบริการ พร้อมกับชำระค่าโดยสารระบบคมนาคมที่เข้าร่วมได้ภายในบัตรเดียว ซึ่งปัจจุบันรฟม.และธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการร่วมกันพัฒนบ โดยใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนที่รฟม.ลงทุนสำหรับการเปลี่ยนเครื่องอ่านของระบบรถไฟฟ้า MRT ให้สามารถอ่านชิป EMV ได้ และเงินลงทุนของธนาคารกรุงไทยในการพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาให้บริการด้านระบบการชำระเงินในรูปแบบบัตรเครดิต EMV ที่มี 2 ชิป โดยในช่วงแรกของการใช้จะให้บัตรเครดิตของธนาคารที่เป็นผู้พัฒนาได้ทดลองใช้ก่อน เพื่อทดสอบความสเถียรของระบบ ก่อนที่จะขยายไปสู่บัตรของธนาคารอื่นๆต่อไป

สำหรับการกระจายบัตรตั๋วร่วมแมงมุมในปัจจุบันได้แจกให้ประชาชนไปแล้ว 1.4 ล้านใบ และมีบัตรแมงมุมที่เตรียมจะแจกให้กับประชาชนอีกครั้งในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้อีก 50,000 ใบ โอกาสการเปิดใช้งานบัตรแมงมุมของรถประจำทางขสมก. ส่วนแผนการผลิตบัตรแมงมุมออกมาอีกนั้นทางรฟม.ยืนยันว่าจะมีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะคิดอัตราการขายบัตรแมงมุม 30 บาท/ใบ เนื่องจากการผลิตบัตรแมงมุมทางรฟม.มีต้นทุนในการผลิต ส่วนบัตร MRT ในปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้ แต่จะทยอยเปลี่ยนมาเป็นบัตรแมงมุมเรื่อยๆในอนาคต

ด้านการเจรจากับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในการเข้าร่วมการรับชำระค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้า BTS ผ่านบัตรแมงมุมนั้น ทาง BTS ยังคงรอทางการพัฒนาระบบและปรับปรุงเครื่องอ่านบัตรแบบ EMV ของรฟม.ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันบัตรแมงมุมเป็นตั๋วร่วมภาคสมัครใจ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาร่วมได้ อีกทั้งในมุมมองของ BTS ซึ่งมีฐานผู้ถือบัตร RABBIT เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบและสร้างความสับสนของผู้ใช้บัตร RABBIT ได้ หากความพร้อมของเครื่องอ่านยังไม่พร้อม ซึ่งคาดว่า BTS จะเข้ามาร่วมภายหลังจากการพัฒนาระบบการชำระค่าโดยสารบัตร EMV แล้วเสร็จ

ด้านนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ยอดการใช้เดินทางรถไฟและบขส.ที่ผานมามีน้อยไม่เต็มวงเงินที่รัฐใส่ให้ โดยเฉลี่ยมียอดเบิกของรถไฟเพียง 20 ล้านบาท/เดือน บขส. 5 ล้านบาท/เดือน ส่วนขสมก. ยังไม่มีสถิติเนื่องจาก ระบบ E-Ticket ยังใช้ไม่ได้ ส่วนยอดธงฟ้าถือว่าสูงมาก เฉี่ย 3,300 ล้านบาท/เดือน. ซึ่งหลังเดือนต.ค.ซึ่งจะให้บัตรคนจนใช้ระบบรถเมล์ได้ จะมีการพิจารณาวงเงินใช้จ่ายที่สอดคล้องกับการใช้จริงเพื่อปรับวงเงินต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ