ครม.รับทราบการแก้ปัญหาถนน-โครงสร้างพื้นฐานกีดขวางทางน้ำ 108 แห่ง ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2018 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานกระทรวงคมนาคม กีดขวางทางน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในปี 2560 ซึ่งพบว่าถนนที่ต้องแก้ไข 108 แห่ง ค่าเสียหาย 994.58 ล้านบาท ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว 32 แห่ง โดยได้ใช้งบเหลือจ่ายปี 60 ดำเนินการจำนวน 253.18 ล้านบาท งบกลางปี 60 จำนวน 157.09 ล้านบาท งบปี 61 จำนวน 16.61 ล้านบาท และปรับแผนงานปี 61 จำนวน 14 ล้านบาท และของบปี 62 จำนวน 553.70 ล้านบาท ดำเนินการส่วนที่เหลือ

ทั้งนี้ ถนนที่กีดขวางทั้ง 108 แห่ง แบ่งเป็นของกรมทางหลวง (ทล.) 100 แห่ง (ภาคใต้ 42 แห่ง อื่นๆ 58 แห่ง) ความเสียหาย 921.46 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 24 แห่ง เป็นถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในพื้นที่ภาคใต้ 8 แห่ง ค่าเสียหาย 73.12 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จแล้วทั้งหมด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมชลประทานในการชี้จุดที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขก่อนเพื่อจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับงบประมาณ

นอกจากนี้ ครม.ได้ รับทราบรายงานผลการพิจารณากำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมไม่ให้รถบรรทุกสินค้าบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นไปด้วยความเคร่งครัด ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 โดยกรมทางหลวง กำหนดเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องปราม โดยเร่งก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดพักรถให้ครอบคลุมโครงข่ายทั่วประเทศตามแผนที่วางไว้ 103 แห่ง (ปัจจุบันมีแล้ว 72 แห่ง) และนำเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบจับกุม

มาตรการปราบปราม เข้มงวด กวดขันให้รถบรรทุกที่ผ่านสถานีฯ เข้าตรวจสอบน้ำหนักทุกคัน จัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่สุ่มตรวจในเส้นทางที่มีรถบรรทุกหลบเลี่ยงสถานีฯ และจัดชุดตรวจสอบน้ำหนักเฉพาะกิจส่วนกลางเพิ่มขึ้นเป็น 10 จุด (จากเดิม 4 จุด) เพื่อเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจทั่วประเทศ

มาตรการประชาสัมพันธ์ รับเรื่องร้องเรียน ให้ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนทราบถึงนโยบายการควบคุมน้ำหนักและผลการจับกุมผู้กระทำผิดผ่านสื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค และเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรมทางหลวงชนบท กำหนดมาตรการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น เช่น จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่เน้นการทำงานเชิงรุกในสายทางที่มีความเสี่ยงการบรรทุกน้ำหนักเกิน บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มความถี่การตั้งด่าน, ระยะกลาง เช่น กำหนดแผนก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักให้ครอบคลุมพื้นที่สายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง, ระยะยาว เช่น ตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน (ด้านกฎหมาย) เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อกำหนดในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างและมาตรฐานความปลอดภัยขณะก่อสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดดังกล่าว นอกจากนี้ ยังหารือกับประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกผ่านแดนให้เป็นไปตามกฎหมาย และหารือกับสมาคมรถบรรทุกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

โดยจากมาตรการเพื่อให้บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งในช่วงปี 2561 (1 ต.ค.60-3 มิ.ย.61) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ตรวจเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกินจับกุมได้ 3,348 คัน เปรียบเทียบปี 2560 ตรวจจับได้ 4,454 คัน ปี 2559 ตรวจจับได้ 1,240 คัน ซึ่งเป็นมาตรการป้องกับถนนชำรุด โดย ทล.และ ทช.ได้เพิ่มจุดตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่สุ่มตรวจจาก 4 จุดเป็น 10 จุด และเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจ นอกจากนี้ ได้เร่งก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดพักรถ จาก 72 แห่ง เป็น 103 แห่ง ในเส้นทางสายหลัก

อย่างไรก็ตาม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมหาแนวคิด วิธีการใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในด้านอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการเลิกแบกน้ำหนักเพื่อลดต้นทุน พร้อมกันนี้ให้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ