(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ค.61 ขยายตัว 1.46% CORE CPI ขยายตัว 0.79%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2018 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนก.ค. 61 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 102.00 ขยายตัว 1.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเทียบเดือน มิ.ย.61 ลดลง 0.05%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ค.61 อยู่ที่ 102.10 ขยายตัว 0.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04 หากเทียบเดือน มิ.ย.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.68 ขยายตัว 0.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.33% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.61

ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.19 ขยายตัว 2.29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.10% เมื่อเทียบเดือน มิ.ย.61

ทั้งนี้ ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.ค.) CPI ขยายตัวเฉลี่ย 1.04% ส่วน CORE CPI ขยายตัวเฉลี่ย 0.70%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.61 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.46% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ซึ่งคำนวณจากสินค้า 442 รายการ พบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 224 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ยาสระผม, น้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซหุงต้ม, บุหรี่ และกาแฟสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง มี 114 รายการ เช่น เนื้อสุกร, น้ำมันพืช, ไข่ไก่, น้ำยาล้างจาน และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 84 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.สอดคล้องกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ชี้ว่าต้นทุนการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัว ทำให้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้นอกจากจะมาจากความต้องการและราคาพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวของต้นทุนการผลิต ทั้งจากการผลิตในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยด้านการตลาด, ปัจจัยด้านการผลิต และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไปจะมีองค์ประกอบที่มาจากด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเมื่อรวมกับแนวโน้มความต้องการด้านการบริโภคของประชาชน มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเสถียรภาพการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มที่ดี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยของปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.8-1.6% และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 1-4% ได้

"เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ เราคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% ซึ่งอยู่ในกรอบที่เราประเมินไว้ 0.8-1.6% และเป็นไปตามกรอบนโยบายการเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5%"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคาพลังงานเป็นสำคัญ ประกอบกับการคาดการณ์ของผู้บริโภคว่าราคาสินค้าในอนาคตจะขยับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ในขณะที่ยังมีความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยที่ทำให้กำลังซื้อยังเติบโตได้ดี เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งในส่วนของข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งจากภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าก็มีส่วนช่วยให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ระดับ 1.35% ส่วนไตรมาส 4 จะอยู่ที่ระดับ 1.5%

อย่างไรก็ดี แม้ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัจจัยกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายชะลอตัวลงไปบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ