(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุ GDP ไตรมาส 2/61 ที่ 4.6% สอดคล้องประมาณการ,ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะเวลาเหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/61 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แถลงเช้าวันที่เติบโต 4.6% นั้นสอดคล้องกับที่ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยจะมีการทบทวนอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนก.ย.นี้

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ธปท.คาดว่าจะพิจารณาเลิกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ประเทศไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้ โดยอาจมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

"ถ้า ธปท.มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะไม่ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเท่านั้น"นายวิรไท กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ธปท.จะพิจารณาหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ เพราะนโยบายการเงินใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจะส่งผลข้างเคียง เช่น มีการออมในระดับต่ำ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเก็งกำไร 4.ความสามารถในการทำนโยบายการเงินในอนาคตที่จะต้องมีกระสุนพร้อมใช้

สำหรับกรณีวิกฤตเศรษฐกิจตุรกีนั้น ส่งผลต่อความกังวลกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งตุรกีมีปัญหาค่าเงินอ่อน ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศสูง เงินทุนสำรองต่ำ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ในส่วนของประเทศไทยผลกระทบโดยตรงยังอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะมีการทำธุรกรรมโดยตรงน้อย อีกทั้งไทยยังมีฐานะต่างประเทศแข็งแกร่ง จะเห็นได้จากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยมาก

อย่างไรก็ดี ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนและค่าเงินในระยะต่อไปจะยังมีต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยประเทศอุตสาหกรรมหลัก มุมมองของนักลงทุนต่อนโยบายกีดกันการค้า ปัญหาประเทศตุรกี ความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนจากปัญหาสงครามการค้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ