กูรูพลังงาน เผย PDP ฉบับใหม่ต้องปรับเปลี่ยนให้รับสถานการณ์โลก มีการบริหารจัดการที่ดี เน้นกระจายทุกภาคของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2018 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกพลังงาน โดยสามารถผลิตได้ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแต่ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ จึงต้องมีการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ ไฟฟ้า และถ่านหิน โดยหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ จะมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เพราะทรัพยากรของประเทศมีน้อย ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ 2.ต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม

ซึ่งในเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน สามารถทำได้ทั้งในเรื่องการขนส่ง การใช้ไฟฟ้า การประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งในปี 2560 การนำเข้าพลังงานของไทยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เป็นการนำเข้าน้ำมันถึง 7 แสนล้านบาท ถ้าประเทศไทยสามารถจัดการเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ จะประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มากและเมื่อดูตัวเลขเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือยุโรป ประสิทธิภาพของไทยจะต่ำมาก เห็นได้จากการใช้พลังงานต่อการเติบโตของจีดีพี ถ้าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1% การใช้พลังงานของไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นแค่ 0.3-0.4% และหากเทียบประเทศในกลุ่มอาเซียน สัดส่วนการใช้พลังงานของไทยจะดีกว่า สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา แต่เทียบกับประเทศเวียดนามแล้วสัดส่วนการใช้พลังงานจะดีกว่าประเทศไทย

สำหรับปัญหาในภาคพลังงานของไทย คือ ผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 87% ของความต้องการในประเทศ นำเข้าก๊าซฯ 29% ซึ่งสัดส่วนนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าการใช้ก๊าซฯ จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะต้องทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาแพงจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น นอกจากนี้ จะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า ซึ่งจะเพิ่มจาก 5 ล้านตันในปัจจุบัน เป็น 30 ล้านตันในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีแผนที่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของ บมจ.ปตท. (PTT) จำนวน 17.5 ล้านตันต่อปี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี

ดังนั้น ความมั่นคงทางด้านพลังงานจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตให้เพียงพอในทุกพื้นที่ ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตในระบบ 42,299 เมกะวัตต์ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตสำรองสูงกว่า 40% และต้องดูว่าเป็นกำลังการผลิตสำรองที่สามารถพึ่งพาได้หรือไม่ ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับ โรงไฟฟ้าจำนวน 42,299 เมกะวัตต์ จะต้องผลิตไฟฟ้าใช้ได้ทันที แต่หากกำลังการผลิตสำรองไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องดูว่ากำลังการผลิตสำรองมากถึง 40% พึ่งพาได้เท่าไร

ดังนั้นแผนพีดีพี 2015 ที่จะปรับเปลี่ยนใหม่เป็นพีดีพี 2018 จึงมีความสำคัญมาก คือ โดยจะต้องมีการการบริหารแหล่งเชื้อเพลิง และสร้างโรงไฟฟ้าแยกเป็นตามรายภูมิภาคซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงได้ โดยดูว่าภาคไหนมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้อยากให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดเองว่าต้องการโรงไฟฟ้าหรือไม่ โรงไฟฟ้าประเภทใดและต้องการได้ผลประโยชน์อย่างไรบ้างในพื้นที่ ในขณะที่ภาครัฐจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อป้องกันปัญหาการต่อต้านจากประชาชน ขณะเดียวกันก็จะต้องกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง อย่างโรงไฟฟ้าหลัก โดยอาจให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการตามเดิม

นายอุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตต่อไปจะต้องเน้นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นได้จากในอดีตเราจะต้องทำการรายผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และปรับมาเป็นการทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และต่อไปคือ การทำ SEA ซึ่งทำให้ต่อการสร้างโรงไฟฟ้าก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเห็นว่าพีดีพีฉบับใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ หรือเป็นรายภาค ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภาค และควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม แบตเตอรี่ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น รวมทั้งอยากเห็นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดว่าพื้นที่ใดที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า

ขณะที่นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงาน ทราบดีว่าประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงาน ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ก็เข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นพลังงานสะอาด แต่มีราคาสูงและอาจจะไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ไม่สามารถใช้เป็นพลังงานหลักได้ จึงจำเป็นต้องมีแบตแตอรี่ในการกักเก็บพลังงานในส่วนที่เหลือมาไว้ในใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทยจะมีการบริหารจัดการอย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า แผนพีดีพีที่ดีจะต้องกระจายเชื้อเพลิง ให้พึ่งพาหลายประเภท ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่เชื่อได้ว่าจะมีการพัฒนามากขึ้นในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังให้ความสำคัญกับโครงการประหยัดพลังงานภาคสมัครใจ (demand respond) โดยอยากจะให้ภาครัฐส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้าลงมากกว่าการที่จะไปเพิ่มกำลังการผลิต เพราะเป็นการลดการใช้พลังงาน แต่อยากให้แผนพีดีพีกำหนดแผนให้ชัดเจน โดยอาจมีเรื่องการเงินเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการอย่างจริงจัง

นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มพีดีพีฉบับใหม่มีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รายละเอียดของแผนพีดีพีเปลี่ยนแปลงไป คือ ทิศทางของโลก นโยบายภาครัฐ และการปฏิรูปด้านพลังงาน โดยในส่วนของแนวโน้มในอนาคตจะเห็นได้ว่าจะมีภาคเอกชนรายย่อยเข้ามาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะค่อยๆ เล็กลง รวมทั้งจะมีเทคโนโลยีใหม่ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เข้ามามากขึ้น ทำให้ กฟผ.จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นผู้ดูแลระบบจากเดิมที่เป็นผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ดูแลทั้งระบบ

ในอีก 5-7 ปี กังวลว่าหากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือประเภทอื่นเข้ามาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ.ก็จะต้องหาวิธีการที่จะรองรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีความมั่นคง และเพื่อให้ไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ