พาณิชย์ จัดสัมมนาปูเส้นทางการค้าเจาะตลาดจีนตอนใต้ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้ามากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความสำคัญของตลาดจีนตอนใต้ว่า จีนเป็นตลาดที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนมีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน และเป็นตลาดใหญ่ในการรองรับสินค้าเกษตรของไทย กระทรวงฯ จึงมุ่งเป้าหมายที่จะผลักดันผลไม้ของไทยเข้าสู่ทุกมณฑลของตลาดจีน เพื่อรองรับผลผลิตผลไม้ของไทยในทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ลำไย ทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดจีนผ่านเส้นทางจีนตอนใต้ที่เชื่อมโยงไปทุกมณฑลของจีน อาทิ เมืองคุนหมิง และเมืองผิงเสียง ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงฯ จะใช้เป็นกุญแจในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตผลไม้ โดยหวังที่จะเห็นผู้ประกอบการไทยใช้โอกาสที่รัฐบาลสร้างรากฐานไว้ให้ในการผลักดันสินค้าผลไม้ และสินค้าประเภทอื่นๆ ผ่านช่องทางต่างๆที่รัฐบาลได้กรุยทางและประสานความร่วมมือไว้ให้แล้ว ผ่านกลยุทธ์การทำงานที่ผลักดันการส่งออกทั้งการเจาะตลาดใหม่และรักษาตลาดเดิม โดยมุ่งขยายตลาดใหม่ที่เจาะเข้าสู่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น และการผลักดันการทำการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงการส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่นครผลไม้โลกได้อย่างยั่งยืน

ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 61 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 125,811.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11% โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนอยู่ที่ 39,428.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.33% โดยเป็นการส่งออก 14,818.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 24,609.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ประเทศจีนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของทวีปเอเชีย

"เมืองคุนหมิงถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับสินค้าที่นำเข้าและบริการจากทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาลงทุนในคุนหมิงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นตลาดค้าปลีกสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศจีนในขณะนี้" น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว

สำหรับจีนตอนใต้ เมืองคุนหมิง และเมืองผิงเสียง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMVT กับ One Belt One Road ของจีน ถือเป็นเส้นทางการค้าใหม่ที่มีศักยภาพเชื่อมเอเชียสู่ยุโรป ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีช่องทางเพิ่มมากขึ้น และสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ในแต่ละมณฑล ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้วางยุทธศาสตร์การเจาะตลาดจีนด้วยการขยายตลาดเมืองรอง ซึ่งได้ดำเนินการเจาะตลาดรายมณฑลไปแล้วหลายแห่ง อาทิ มณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน และนครเชี่ยงไฮ้ ฯลฯ ผ่านช่องทางการจัดงานแสดงสินค้า และการเชิญชวนผู้ประกอบการจีนเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าในไทย อาทิ งาน Thaifex-World of Food Asia 2018 รวมทั้ง แผนการจัดงานแสดงสินค้าในแต่ละมณฑลโดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งของจีนในการนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปบุกตลาดจีน

นอกจากนี้ ไทยและจีนยังได้มีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน (Thailand-China Free Trade Area) ซึ่งมีส่วนทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกับจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกสินค้า หรือการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบางประเภทของไทยที่ยังต้องมีการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศจีนอยู่ โดยอาจมีการตั้งฐานการผลิตหรือโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศจีน ซึ่งตลอดเส้นทางการค้า ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพผ่านประชากร 60 ล้านคนของไทย สู่ประชากร 250 ล้านคนของ CLMVT ไปสู่ประชากรกว่า 1,300 ล้านคนของจีนจึงถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตและสามารถเข้าถึงช่องทางการค้าในตลาดจีนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และคณะผู้จัดงาน เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานสัมมนา ‘ผ่าขุมทรัพย์จีนตอนใต้ รู้ก่อน รวยก่อน’ จะได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และสามารถจัดทัพปรับกลยุทธ์ก่อนบุกตลาดจีนตอนใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่จะมาแกะรอยเส้นทางการค้าเพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญคลังสมองจีน-อาเซียน ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าเชียงราย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับและสามารถนำไปต่อยอดทางการค้าและการลงทุนไปสู่ตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ