(เพิ่มเติม) กกร. คงคาดการณ์ GDP-ส่งออกปีนี้ หลังมองเศรษฐกิจ H2/61 โตชะลอลง แม้ Q2/61 ขยายตัวสูงกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2018 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจเติบโตผ่อนแรงลง จากการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน

แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2561 จะขยายตัวสูงกว่าที่คาด โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก, การท่องเที่ยว, การบริโภคภาคเอกชน และการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวสูง ซึ่งเมื่อประกอบภาพกับไตรมาสแรกบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังสามารถรักษาแรงส่งการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่องโดยเติบโตประมาณ 4.8% (YoY) อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าในไตรมาสต่อไป อาจมีการชะลอตัวจากการส่งออกและการท่องเที่ยว

"จากข้อมูลล่าสุดในเดือนกรกฎาคม สะท้อนว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้บางเครื่องชี้เริ่มชะลอลงอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ภูเก็ตเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ แต่สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวเองยังคงเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัวมากขึ้น"

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเดินหน้านโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้ รวมทั้ง ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำต่อผลผลิตภาคเกษตรด้วย ส่วนการท่องเที่ยวยังคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

สำหรับประเด็นความเปราะบางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งตุรกีและเวเนซุเอลานั้น แม้เป็นปัญหาที่เฉพาะตัวของแต่ละเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความผันผวนต่อทิศทางค่าเงินบาทได้ โดยรวมแล้ว แม้จะยังคงมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งในและต่างประเทศ แต่ กกร. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP), การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2561 นี้ จะยังคงอยู่ในกรอบประมาณการของ กกร. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 61 ที่ 4.3-4.8%, 7.0-10.0% และ 0.9-1.5% ตามลำดับ

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ว่า ล่าสุดมีมีการประกาศตัวเลขดัชนีโลจิสติกส์ หรือ LPI (Logistic Performance Index) ของไทยขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 62 หรือเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นผลมาจากปัจจุบันมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ อาทิ พัฒนาวิธีการศุลกากรที่ดีขึ้น การติดตามและตรวจสอบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการตรงต่อเวลา ซึ่งทำให้ค่าดัชนีของไทยปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งทำให้การขนส่งมีราคาที่ต่ำลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คาดว่าในอนาคตจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยและธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ