"เซ็นจูรี่21" เผยผลสำรวจอสังหาฯยุคคสช.โตแค่ 4-5% เหตุหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ, ราคาที่ดินโตชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2018 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลสำรวจ "ทางรอดหรือทางตันของการพัฒนาอสังหาฯในยุครัฐบาล คสช." ว่า ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงยุคคสช.นั้นเติบโตเพียงเล็กน้อยในระดับ 4-5% ซึ่งคาดว่าจะมาจากปัจจัยของตลาดระดับล่าง-กลาง ที่ในช่วงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นค่อนข้างนิ่ง เพราะลูกค้าระดับล่าง-กลาง มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ และทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาด แม้ว่าภาครัฐจะมีการออกนโยบายเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มนี้ผ่านธนาคารที่ให้บริการเฉพาะทาง และช่วยให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่ก็สามารถช่วยผลักดันการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ได้เพียงเล็กน้อย
อีกทั้งในแง่ของส่วนต่างจากราคาที่ดิน (Yeild) ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 10-18% ต่อปี จากเมื่อ 4-5 ปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 40-50% ต่อปี แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะมีการประกาศการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ Yeild ที่ได้นั้นเริ่มลดลง ทำให้ความน่าสนใจของอสังหาริมทรัพย์ไทยเริ่มลดลงตาม และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ได้กลับมาดีมากนัก แม้ว่าจะดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากภาพรวมการขายอสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก และทำให้ผู้ขายแลขตัวแทนขายต้องหาวิธีการในการกระตุ้นกลุ่มลูกค้าชาวไทยให้มีความสนใจมากขึ้น

ด้านนางสาวพรพรรณ วีระปรียากูร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ (C21 Poll) บริษัท เซ็นจูรี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ คือ ปัจจัยการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสามารถทำให้เกิดได้ทั้งทางรอดและทางตัน โดยที่หากเมืองมีการเติบโต ระบบคมนาคมจะเติบโตตามไปด้วย ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมนั้นจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดินรอบข้างไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือวัตถุประสงค์อื่นๆจะทำให้เกิดทางรอดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่การพัฒนาจะต้องพิจารณาส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ความหนาแน่นของประชากร (Density), ความหลากหลายของกิจกรรม (Diversity) หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land use) และการออกแบบที่เชื่อมโยงเหมาะสม (Design) อย่างไรก็ตาม หากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถูกจำกัดประเภทในการพัฒนาพื้นที่รอบๆหรือใกล้เคียงระบบคมนาคม หรือการใช้ประโยชน์ที่ดินใกล้เคียงไม่ได้มีหลากหลายกิจกรรม เนื่องจากจะส่งผลต่อศักยภาพการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้อยู่ในภาวะหลากหลายราคา (Affordable housing) เช่น การที่พื้นที่ถูกพัฒนาเป็นโครงการแนวสูงเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียว ตามแนวระบบการคมนาคม หรือมีการวางตำแหน่งอสังหาริมทรัพย์อย่างกระจัดกระจาย ขาดการออกแบบที่เชื่อมโยงอย่างเหมาะสม หรือการขาดการออกแบบกิจกรรมในลักษณะแหล่งพาณิชยกรรม ทำให้พื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แบบหลากหลาย (mixed-use) หรือพัฒนาพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด จะเป็นทางตันของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ นอกจากนี้ในส่วนของเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองและระบบคมนาคม ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกหลายประการที่อาจส่งผลให้ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยกำหนดทางรอดหรือทางตันในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น กฏหมายผังเมือง-การเวนคืนที่ดิน, การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่ใช้อาคารรวมต่อที่ดิน (FAR), การโอนถ่ายสิทธิในการพัฒนา (TDR), การบรรจุแนวคิด TOD ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และการนำร่องการพัฒนาพื้นที่โดยหน่วยงานในกำกับของภาครัฐ เช่า การเคหะแห่งชาติ และการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ