รัฐขับเคลื่อน Smart City ทุกจังหวัดใน 5 ปีวางรากฐานเทคโนโลยีเชื่อมโยงต่อยอดการพัฒนา-ดึงชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2018 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงาน "Delta Future Industry Summit 2018" ภายใต้หัวข้อ "ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอัฉริยะ" ว่า แนวคิด Smart City ได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมชุมชนมากขึ้นตามการพัฒนาแบบ Thailand 4.0 ซึ่งทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงชุมชนผ่านไฟเบอร์ออฟติกทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านระบบ e-commerce และมีแหล่งการเรียนรู้ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต รวมถึงสามารถเข้าถึงบริษัทของภาครัฐด้วย

นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดต่อภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการผลักดันให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์แขนกล (Robotic) และระบบดิจิทัลที่เหมาะสมต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นเรือธงในการผลักดันให้เกิด Smart City

รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยเป็น Smart City ภายใน 5 ปี หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มทดลองโครงการนำร่องในจังหวัดภูเก็ต โดยการใช้ Smart Ecosystem เพื่อดูแลการท่องเที่ยว และระยะถัดไปมีแผนจะขยายโครงการเพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น, กรุงเทพมหานคร, ฉะเทริงเทรา, ชลบุรี และระยอง เนื่องจากคาดการณ์ว่าภายในปี 73 ประชากรราว 70% จะอาศัยอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ การพัฒนาจึงต้องเร่งขยายผลจากเมืองต้นแบบให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อาทิ มลภาวะ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการเร่งพัฒนาและหาแนวทางที่ยั่งยืนเพื่อให้มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

สิ่งที่รัฐบาลเริ่มทำคือการทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดไปสู่บริการใหม่สำหรับประชาชน รัฐบาลได้พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างไม่มีข้อจำกัด แต่เพื่อให้การพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ชุมชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การเริ่มต้นในการพัฒนาจะต้อวเริ่มจากโจทย์ของชุมชนคิดหาบริการที่ชุมชนต้องการใช้งานได้ทันที รัฐบาลอยากเห็นแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

โดยรัฐบาลมีแผนขับเคลื่อนในการเป็น Smart City ผ่านการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมช่วยเหลือ และกำหนดทิศทางในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นภายใต้ตัวบทที่ชัดเจนและใช้งานได้โดยมุ่งเน้นแผนการพัฒนาผังเมือง, ด้านพลังงาน และระบบดิจิทัล

และปัจจัยที่มองว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนในการตั้งศูนย์เพื่อหาแนวทางการพัฒนาของตนเอง ซึ่งภาครัฐเองก็จะช่วยส่งเสริมในการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งต้องมีการพัฒนากลไกการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ให้สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จากการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม

ด้านนายนพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาเมืองเพื่อให้เป็น Smart City ไม่เพียงแต่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แต่ยังต้องมีการติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชนได้ ซึ่งจะต้องทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ทันทีรวดเร็วใกล้เคียง real-time ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งอาจสามารถนำระบบดังกล่าวมาปรับใช้กับการเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

รวมถึงจะต้องมีอุปกรณ์และวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้มีการจัดให้เป็นระบบและควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงต้องเริ่มให้ความรู้และการตระหนักถึง Smart City ในภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม หรือ Citizen Engagement

ด้านนายศักดิ์ดา แซ่อึ่ง ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย MCIS บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) กล่าวว่า บริษัทได้วางนโยบายมุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรองรับ Smart City ในอนาคต และบริษัทก็มองว่าการเชื่อมต่อ (connectivity) เป็นพื้นฐานของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน และนอกจากนั้นต้องพัฒนาระบบในด้านต่าง ๆ เช่นการจ่ายไฟ ระบบสำรองไฟ และระบบศูนย์ข้อมูลในการวิจัยพัฒนา (Data Analytics) ซึ่งจะทำให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพื้นที่มากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถรองรับข้อมูลทางไบโอเมทริกซ์ (Biometric Data) อาทิ การเข้าระบบผ่านหน้าตา ม่านจา และนิ้วมือ เพื่อจะช่วยส่งเสริมสร้างให้การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

ขณะที่นายปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวถึงภาพรวมของสถาบันการเงินกับการเปลี่ยนผ่านสู่ Smart City ว่า สถาบันการเงินจำเป็นต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ความเสี่ยงของธนาคารเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกัน หรือ Conectivity เป็นหัวหอกสำคัญ ในการลดระยะเวลาและระยะทางลง

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมีทั้งด้านดีและด้านลบ ซึ่งหากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่สามารถเติบโตได้ทันเทคโนโลยีอาจทำให้เสียเปรียบได้ ซึ่งเป็นกลไกที่ต้องใส่ใจและติดตามให้ทันการพัฒนาของอุตสาหกรรมและประเทศ

ปัจจุบันจำนวนการทำธุรกรรมผ่านบัตรต่าง ๆ ค่อนข้างทรงตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet banking) มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านบัญชี เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านมือถือ (Mobile banking) ที่มีการเติบโตรวดเร็วมากจากการเริ่มใช้ระบบพร้อมเพย์

ทั้งนี้ นายปิยะพันธ์ มองว่าสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเป็นการลดแรงเสียดทานจากการเชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อาทิ ค่าธรรมเนียม ซึ่งเมื่อมีการร่วมมือกันของธนาคารต่าง ๆ และจำเป็นต้องมีตัวกลางในการเชื่อมต่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีจำนวนการใช้บริการมาก ยังมีโอกาสที่ตัวกลางจะเกิดปัญหาได้ ทำให้ไม่สามารถทำธุรกกรมได้อย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ