ครม.สัญจร ไฟเขียวโครงการชุมชนไม้มีค่า เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างความมั่นคงทางอาชีพ-มูลค่าทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2018 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อนุมัติหลักการให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีชุมชนไม้มีค่า 2 หมื่นแห่ง ภายใน 10 ปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 26 ล้านไร่ ส่งผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือนมีความมั่นคงในอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 1.04 ล้านล้านบาท และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.76 แสนตัน/ปี ซึ่งมีราคาตันละ 800 บาท

"เมื่อวานนายกฯ ได้ลงไปดูพื้นที่สวนป่าต้นแบบพบว่าที่ดินหนึ่งแปลงมีต้นไม้มูลค่า 15 ล้านบาท..ต้นสักราคาเพิ่มขึ้นวันละ 3.70 บาท, ต้นประดู่เพิ่มขึ้นวันละ 2.40 บาท, ต้นตะแบกเพิ่มขึ้นวันละ 2 บาท มะค่าเพิ่มขึ้นวันละ 1.30 บาท ถ้าเราปลูกได้ 1 พันล้านต้นจริงๆ มูลค่าสินทรัพย์ที่ประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึงวันละ 1-3 พันล้านบาทต่อวัน" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการให้ประชาชนสามารถนำต้นไม้ 58 อย่างในที่ดินของตนเองมาใช้เป็นหลักค้ำประกัน ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีชุมชนที่ทำเรื่องธนาคารต้นไม้แล้ว 6.8 พันชุมชน มีต้นไม้ 11 ล้านต้น ตลอดจนการแก้ไขมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองและสามารถตัดได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนที่ปลูกต้นไม้ไว้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่แท้จริง

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนส่งเสริมการปลูกและการแปรรูปไม้มีค่าเป็นโครงการต่อเนื่องจากที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการออม เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างรายได้ และดูแลสิ่งแวดล้อม

"ประชาชนสามารถปลูกต้นไม้ได้ทุกที่ สวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ บ้านเรือน หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่ว่างทำเป็นสวนป่า เราสนับสนุนทุกอย่าง ต้นไม้เหล่านี้จะมาทดแทนต้นยูคาลิปตัสซึ่งได้แค่ต้นละ 500 บาท ทำให้ประชาชนมีหลักประกันการออมในระยะยาว เมื่อมีลูกก็ปลูกต้นไม้เลย ลูกเรียนหนังสือก็ตัดต้นไม้ ลูกบวชก็ตัดต้นไม้ ลูกแต่งก็ตัดต้นไม้ เวลาเกษียณอายุก็ตัดต้นไม้ขายได้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้จะมีหน่วยงานราชการ 16 แห่งเข้ามาร่วมดำเนินการ เช่น กรมป่าไม้ดูแลเรื่องการเพาะต้นกล้าไม้, ธ.ก.ส.ดูแลเรื่องทุนและโรงเพาะชำ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ