BAY เผยบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนหลัง กนง.ลงมติคงดอกเบี้ย แต่เสียงแตกเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2018 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีความเห็นต่อผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% นับเป็นการตรึงดอกเบี้ยครั้งที่ 27 ภายหลังการลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 โดยมีกรรมการ 2 ท่านโหวตให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าและแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 32.47 บาท/ดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่า 0.2% เทียบกับดอลลาร์ ซึ่งปรับตัวได้ดีกว่าสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ แม้ว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องสงครามการค้าระหว่างประเทศ

โดยคณะกรรมการ กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าอาจชะลอลงบ้างจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่การย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทยจะลดผลกระทบได้บ้าง ส่วนแรงกดดันด้านราคา กนง.กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจปรับขึ้นได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2561 ที่ระดับ 4.4% และคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของยอดส่งออกและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 9.0% และ 1.1% ตามลำดับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง. มองว่า จำเป็นต้องจับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท หลังจากที่ตลาดมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย และมีการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กนง.ยังคงระมัดระวังต่อการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าควร ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง.มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ผลการลงมติในวันนี้เป็นเหมือนการเปิดทางไปสู่การเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนับเป็นครั้งแรกที่ กนง. ระบุชัดเจนในแถลงการณ์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง ทั้งนี้ กลุ่มงาน โกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น การสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต และแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ