(เพิ่มเติม) รฟท.คาดรู้ผลผู้ชนะประมูล-เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายใน ม.ค.62,ทางคู่เฟส 2 เข้าครม.ก่อนสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2018 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะภายในเดือน ม.ค.62 จากนั้นจะลงนามในสัญญาในเดือน ม.ค.62 และมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66

ทั้งนี้ รฟท.จะให้เอกชนส่งคำถามเกี่ยวกับการยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการ มาได้เพิ่มเติมจนถึงวันที่ 9 ต.ค.นี้ และจะตอบคำถามให้ได้จนถึงวันที่ 28 ต.ค. จากนั้นจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.61 โดยจากการประชุมชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 มีคำถามจากผู้สนใจสอบถามข้อมูลถึง 626 คำถาม ซึ่งได้ตอบไปแล้วกว่า 300 คำถาม

ขณะเดียวกันการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ดำเนินการคู่ขนานกันไป คาดว่าจะจัดทำได้เสร็จสิ้นในต้นปี 62 ส่วนการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ทั้งหมดกำหนดไว้ภายใน 5 ปี เบื้องต้นอาคารผู้โดยสารและกิจการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ติ เรล ลิ้งก์ จะส่งมอบในอีก 2 ปี ทั่งนี้การเวนคืนที่ดินเราก็ต้องทยอยดำเนินการ โดยขณะนี้กำลังจัดทำ พ.ร.ฎ.เวนคืน โดยเฉพาะในพื้นที่ในจ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 300 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและจอดรถไฟฟ้า (DEPO) และที่ดินมักกะสัน ประมาณ 100 ไร่

"นักลงทุนถามเข้ามา 600 กว่าคำถาม จากนักลงทุน 31 ราย ตอบไปแล้วครึ่งหนึ่ง และวันนี้อาจจะมีคำถามเพิ่มเติม ก็จะเร่งตอบให้เสร็จ จากนั้น 12 พ.ย.จะเปิดให้ยื่นเอกสาร จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกก็จะพิจารณาให้เสร็จในเดือน ม.ค.ปีหน้า" นายวรวุฒิ กล่าว

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา

โครงการดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ในการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในเวทีโลก และร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเชื่อมโยงเดินทางของผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ท่องเที่ยวให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

*โครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง และ เส้นทางใหม่อีก 1 เส้นทาง นายวรวุฒิ คาดว่า จะนำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปีนี้ และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 62 พร้อมลงนามในสัญญาได้ภายในไตรมาส 1/62 โดยรฟท.กำลังจัดทำรายงานเสนอกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการประมูลจะใช้เหมือนกับการประมูลรถไฟทางคู่เฟสแรกที่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของซุปเปอร์บอร์ดเพื่อความโปร่งใส

รถไฟทางคู่เฟส 2 ประกอบด้วย 7 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 62,883.55 ล้านบาท 2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม.วงเงิน 56,887.78 ล้านบาท 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม.วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 4.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 169 กม.วงเงิน 26,663.26 ล้านบาท 5.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท 6.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 324 กม.วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท และ 7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม.วงเงิน 8,120.12 ล้านบาท รวมมูลค่า 273,701.60 ล้านบาท

และอีก 1 เส้นทางใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 67,965.33 ล้านบาท

"รถไฟฯ จะพยายามทำให้ทันเพื่อนำเสนอครม.ในเดือน ต.ค. และคาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาได้ในต้นปีหน้า และคิดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาสแรกปีหน้า การประมูลคงใช้ pattern เดิมที่เคยวางไว้ที่ยังต้องผ่านซุปเปอร์บอร์ด แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมในการทำงานด้วย"

อย่างไรก็ดี นายวรวุฒิ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคาดว่าการพิจารณาจะเป็นการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งต่างจากเฟสแรกที่เป็นการลงทุนเริ่มต้นจากที่ รฟท.ไม่เคยลงทุนมานานกว่า 60 ปี แต่เฟส 2 เป็นการลงทุนส่วนต่อขยาย ก็จะจัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ การจะเปิดประมูลพร้อมกันก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.

ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุนของ รฟท.จะลงทุนพร้อมกันทั้ง 7 เส้นทางเดิมที่เป็นส่วนต่อขยาย และ 1 เส้นทางใหม่ แต่หากไม่สามารถลงทุนได้พร้อมกัน รฟท.ได้จะจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางก่อน-หลังตามยุทธศาสตร์ประเทศที่จะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารได้

โดยลำดับแรกเป็นเส้นทางไปแถบอีสาน จะเลือกลงทุนเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 169 กม.ก่อน เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางเข้ามามาบตาพุด ในเขตพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) โดยในโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีเส้นทาง ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย นอกจากนี้มีเส้นทาง ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นที่เชื่อมกับเส้นนี้ โดยเส้นทางรถไฟทางคู่ถึงหนองคาย สามารถเชื่อมต่อกับประเทศ สปป.ลาว ที่สามารถขนส่งสินค้ามายังมาบตาพุดได้

ลำดับที่สอง รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. ซึ่งเน้นขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ส่วนจะต่อไปช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ก็จะพิจารณากันอีกครั้ง

*คาดเปิดประมูลพื้นที่บางซื่อ "แปลงเอ" ปลายปีนี้, เตรียมพร้อมเดินรถสายสีแดง

ขณะเดียวกัน รฟท.เตรียมจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) พื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่แปลงเอ พื้นที่ 36 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปีนี้ เพื่อให้ได้เอกชนเข้ามา ซึ่งกำหนดเปิดบริการในปี 64 ใกล้เคียงกับการเปิดสถานีกลางบางซื่อที่จะเปิดใช้ในปี 64 เช่นกัน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูกในการบริหารเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ มาเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงแทน จากเดิมที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยจะนำพนักงานที่มีอยู่แล้วในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มีกว่า 400 คนและจะรับสมัครใหม่เพิ่มเติมด้วย โดยคาดว่าจะต้องใช้พนักงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงประมาณ 900 คน

ทั้งนี้ รฟท.จะปรับปรุงแผนงานใหม่และนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อจัดสรรพนักงานให้สอดคล้องกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะช่วง 2 ปีแรกพนักงานของแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ต้องบริหารเดินรถ 2 ปีก่อนที่จะส่งมอบให้เอกชนที่ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเขื่อมสามสนามบิน

ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง นายวรวุฒิ คาดว่าจะคุ้มทุน (Break event) ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 8 หมื่นคน/วัน ภายใน 3-5 ปี ทั้งนี้จะทำได้เร็วขึ้นกับการเชื่อมต่อระบบขนส่ง โดยเบื้องต้นเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งในปี 63 จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย และจะเชื่อมต่อกับสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ลำลูกกา

นอกจากนี้ รฟท.เตรียมนำเสนอครม.อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งเป็นรถไฟเส้นทางที่รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกัน และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ -หัวหิน ภายในปีนี้ ซึ่งทั้งสองเส้นทางนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงคมนาคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ