(เพิ่มเติม) กทพ.เผย คลังหนุนหาช่องทางระดมทุนเพิ่ม หลัง TFFIF ผลตอบรับดี,เผยมี 5 เส้นทางใหม่รอลงทุนอีกกว่า 2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรงค์ บุลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รมว.คลัง ให้กทพ.จัดหาเงินทุนเองได้รองรับการลงทุนโครงการทางพิเศษเส้นทางใหม่ได้ หลังจากที่การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future:TFFIF) ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนดี และมีประสงค์จะกระจายการลงทุนไปให้นักลงทุนรายย่อยอย่างทั่วถึง

"เราได้รับนโยบาย รมว.คลัง เราไม่ต้องเข้าคิว ถ้าหาเงินทุนเองได้ เราก็จะทำ 3-4 เส้นทางพร้อมๆกัน จากที่ผ่านมาต้องรอสร้างเสร็จแต่ละเส้นทางใช้เวลา 5 ปี จึงจะได้ทางด่วนมา 1 เส้น เราก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำทีเดียว 3 เส้น คนกรุงเทพ จะได้มีความสะดวกสบาย"ประธานบอร์ด กทพ. กล่าว

นายสุรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมจำหน่ายหน่วยลงทุน TFFIF มูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการไปโรดโชว์ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี โดยมุ่งเป้าไปที่การจำหน่ายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนรายย่อยเป็นอันดับแรกๆ เพื่อประชาชนให้เป็นเจ้าของกองทุน และเป็นการเปิดช่องทางระดมทุนอื่นแทนการกู้ยืมเงิน ซึ่งกองทุนนี้จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง จากการทำรายได้ยาวถึง 30 ปี ขณะที่ความเสี่ยงการลงทุนต่ำ

ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ รัฐบาลจะมอบให้ กทพ.นำไปพัฒนาทางด่วน 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก มุลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.มีหลายโครงการที่จะต้องดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาติดขัดการจัดหางบประมาณ และการขอกู้เงินทำได้ยาก เนื่องจากหนี้สาธารณะในของส่วนรัฐวิสาหกิจ มีเพดานหนี้อยู่ที่ 8 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสุขภาพ กองทุนเกี่ยวกับการเรียน ที่ประชาชนได้รับความเป็นอยุ่ดีขึ้น ในส่วนการจัดสรรเพื่อสร้างทางด่วนแม้มีความสำคัญแต่ก็อยู่ในลำดับท้ายๆ

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางให้ กทพ.ระดมทุนเองผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้ยืนยันโครงการจัดตั้ง TFFIF เป็นไปได้อย่างสวยงามและคาดว่าจะประสบผลสำเร็จในไม่ช้านี้

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า การระดมทุนผ่าน TFFIF เพื่อมาลงทุนทางด่วนพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการเร่งด่วน เพราะจะช่วยเร่งระบายรถที่ข้าไปฝั่งธน ซึ่งเป็นเส้นทางขนานกับสะพานพระราม 9 โดยทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองฯ จะเป็นเส้นทางทดแทนกรณีที่สะพานพระราม 9 ที่ต้องปิดซ่อมบำรุงใหญ่ เนื่องจากใช้งานมานานกว่า 30 ปี นอกจากนี้ ยังจะแบ่งเบาปัญหาจราจรติดชัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงสุขสวัสดิ์-คะนองด้วย

อนึ่ง โครงการทางด่วนพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทาง 18.7 กม. อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศประกวดราคาหาผู้รับจ้างของโครงการ โดคาดว่าจะก่อสร้างในต้นปีงบประมาณ 62 เปิดให้บริการปีงบประมาณ 65

ส่วนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก และโครงข่ายส่วนทดแทนตอน N1 จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือ เชื่อมโยงโครงข่ายทางด่วนในแนวตะวันออกไปตะวันตก (East-West Corridor) ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โครงข่ายระบบทางด่วนทดแทนตอน N1 ร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 63 และเปิดให้บริการในปีงบประมาณ 66

*โครงการใหม่รอลงทุนอีก 5 เส้นทางใช้เงินมากกว่า 2 หมื่นลบ.

นายสุทธิศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า กทพ.ยังมีอีก 5 โครงการที่วางแผนดำเนินงานไว้ ได้แก่ โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ (Missing Link) ระยะทางประมาณ 2.6 กม. มูลค่าลงทุนประมาณ 5-6 พันล้านบาท โครงการนี้จะเชื่อมโยงโครงข่ายของระบบทางพิเศษในแนวตะวันออก-ตะวันตก กับแนวเหนือ-ใต้ของพื้นที่กรุงเทพฯ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในระดับพื้นดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และทางด่วน รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันตกมุ่งเหนือไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองโดยใช้ทางยกระดับอุตราภิมุข ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2556 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 62 และเปิดให้ริการปีงบประมาณ 65

โครงการทางพิเศษสายกะทู้ -ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มูลค่าลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท มีระยะทาง 3.98 กม. เชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกระทู้ ไปยังหาดป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โครงการนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอโครงการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2556 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 63 และเปิดให้บริการปีงบประมาณ 67

โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี จะเป็นเส้นทางจากกรุงเทพไปยังภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดปัญหาจราจรติดขัดของถนนพหลโยธิน ถนนรังสิต-นครนายก และระบบโครงข่ายถนนโดยรอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA

ส่วนอีก 2 โครงการจะเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งเป็นทางชึ้นลงทางพิเศษที่เชื่อมต่อกับบริเวณพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าของท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับไปตามแนวเกาะกลางของถนนภายในท่าเรือกรุงเทพ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังทางพิเศษบูรพาวิถีและเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชทศทางไปยังถนนจตุโชติและถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน โดยคาดว่า สนข.จะเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาความเหมะสมและออกแบบรายละเอียดของโครงการ โดยใช้งบศึกษาโครงการจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาร 65 และเปิดใช้ในปีงบประมาณ 66

และโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางโครงการบริเวณจุดสิ้นสุดทางพิเศษสายบูรพาวิถี ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี วิ่งบนทางหลวงหมายเลข 3 จุดสิ้นสุดทางหลักอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับทางเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยมีทางขึ้น-ลงบนทางหลวงหมายเลข 361 (ทางเลี่ยงเมืองชลบุรี) บริเวณจุดตัดถนนเทศบาลคลองตำหรุ 12 โดยมีระยะทาง 3.5 กม. โครงข่ายนี้แก้ปัญหาจราจรติดชันด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนครโดยลดปริมาณรถที่ลงจากทางพิเศษบูรพาวิถีไปยังถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และยังเป็นการเชื่อมต่อไปยังทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เพื่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุน EEC ทั้งนี้ กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 65 และเปิดใช้ในปีงบประมาณ 68

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้งบลงทุนใน 2 โครงการนี้รวมประมาณ 2-3 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ