(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุ เศรษฐกิจไทย ส.ค.ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากทั้งอุปสงค์ทั้งในประเทศ-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 28, 2018 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.61 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย และการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องแม้ชะลอลงบ้าง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวไดแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวสูง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทสเป็นสำคัญ ขณะที่อัราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุสฺทธิจากด้านสินทรัพย์

ธปท.ระบุรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ยกเว้นในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนจากการเร่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบก่อนการขึ้นภาษีสรรพสามิต สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้น ตามรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงที่ 5.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 9.6% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า อาทิ 1) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะยางล้อและถุงลมนิรภัย รถยนต์นั่ง และรถกระบะ 2) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ 3) เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและ 4) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้า ชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ และอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าประมงยังหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกกุ้งจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์หดตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงจากการเร่งส่งออกในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าตามการผลิตเครื่องปรับอากาศ

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัว ทั้งนี้เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างและเครื่องจักรของกรมชลประทานและกรมทางหลวงชนบทเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 3.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวันหยุดเทศกาลฮารีรายอฮัจญีที่ตรงกับช่วงวันหยุดยาวในมาเลเซีย ประกอบกับนักท่องเที่ยวฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดียขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวสูงจากผลกระทบจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนลง และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 0.2% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงที่ 24.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และหากหักทองคำขยายตัว 14.6% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า อาทิ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโลหะ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 3) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ขยายตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.62% เร่งขึ้นจาก 1.46% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ ตามการฝากเงินในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ