คกก.SEA เลือกนิด้าเป็นที่ปรึกษาวางเป้าเซ็นสัญญาธ.ค.ก่อนเริ่มศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ใน 9 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2018 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ SEA ในวันนี้ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในเว็บไซด์ของกระทรวงพลังงาน โดยมีกำหนดเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการ ฯ กลับมายังกระทรวงพลังงาน ระหว่างวันที่ 17 ก.ย.-5 ต.ค.61 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเปิดรับข้อเสนอโครงการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยสาระสำคัญจะมีกรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้ยื่นเสนอทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยทั้ง 3 ราย คณะกรรมการ ฯ ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย เกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองตามที่สำนักงาน กกพ. กำหนด อาทิ ความสำคัญและความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประสิทธิผลของโครงการ ประสิทธิภาพของโครงการ เป็นต้น รวมทั้ง เกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองในรายละเอียด อาทิ กรอบแนวคิด ขอบเขตและขั้นตอนการดำเนินงานสอดคล้องกับ TOR การแสดงให้เห็นวิธีการและกระบวนการทำงาน กระบวนการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ประสบการณ์ในการจัดทำหรือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) รวมทั้งคุณสมบัติบุคลากร

ขณะนี้คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ จากผู้ยื่นเสนอโครงการ จากสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่ง และได้พิจารณาเลือกนิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการ

สำหรับแนวทางการดำเนินการต่อไป กระทรวงพลังงานจะส่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้สำนักงาน กกพ. คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในต้นเดือน ธ.ค.61 และจะเริ่มดำเนินการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ คาดว่าจะได้ผลการศึกษาทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือน เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาและจัดหาพลังงานในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากประชาชน และสนับสนุนให้กระทรวงพลังงานสามารถปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ได้อย่างมีรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคสังคมและประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ