พาณิชย์ เผยต.ค.61 ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้น 3%, ยอดเลิกกิจการ พุ่ง 21% YoY

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2018 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน ต.ค.61 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,197 ราย ลดลง 116 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 6,313 ราย หรือคิดเป็น 2% แต่เพิ่มขึ้น 194 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.60 ที่มีจำนวน 6,003 ราย คิดเป็น 3%

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 573 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 383 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 201 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในเดือน ต.ค.61 มีจำนวนทั้งสิ้น 19,962 ล้านบาท ลดลง 58% หรือ 28,065 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 48,027 ล้านบาท และลดลง 50% หรือ 19,761 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.60 ที่มีจำนวน 39,723 ล้านบาท

ทั้งนี้หากจำแนกธุรกิจจัดตั้งใหม่ตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 6,066 ราย คิดเป็น 97.89% รองลงมาคือ ทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 113 ราย คิดเป็น 1.82% และทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 18 ราย คิดเป็น 0.29% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ ธุรกิจโรงภาพยนต์ มีมูลค่าทุน 1,740 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น ณ วันที่ 31 ต.ค.61 ทั่วประเทศมีจำนวน 711,478 ราย มูลค่าทุน 17.79 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 182,626 ราย คิดเป็น 25.67% บริษัทจำกัด จำนวน 527,635 ราย คิดเป็น 74.16% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,217 ราย คิดเป็น 0.17% และหากแบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 628,672 ราย คิดเป็น 88.36% รวมมูลค่าทุน 1.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.85% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 68,177 ราย คิดเป็น 9.58% รวมมูลค่าทุน 1.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.34% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14,629 ราย คิดเป็น 2.06% รวมมูลค่าทุน 14.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.81% ตามลำดับ

ขณะที่มีจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการจำนวน 2,166 ราย เพิ่มขึ้น 14% หรือ 267 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 1,899 ราย และเพิ่มขึ้น 21% หรือ 369 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค..60 ที่มีจำนวน 1,797 ราย

โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 181 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 110 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 50 ราย คิดเป็น 2% ตามลำดับ และ มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน ต.ค.61 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% หรือ 3,533 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.61 ที่มีจำนวน 6,555 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1% หรือ 58 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.60 ที่มีจำนวน 10,030 ล้านบาท

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 2,064 ราย คิดเป็น 95.29% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 94 ราย คิดเป็น 4.34% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็น 0.37%

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 62,468 ราย เพิ่มขึ้น 1.38% หรือจำนวน 853 ราย เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 61,615 ราย การเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในพื้นที่ที่ระดับ 7- 8% ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดปี 2561 ยังอยู่ในกรอบของการขยายตัว เนื่องจากปัจจัยมูลค่าการส่งออก และมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินไว้ที่ 1.5% รวมทั้งมาตรการจากภาครัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งเมืองรองและชุมชน เพื่อสนับสนุนธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร และที่พักโรงแรมในส่วนภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล รวมไปถึงมาตรการในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการเข้ามาของชาวต่างประเทศต่างๆ ได้แก่ การยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61-ม.ค.62 ครอบคลุม 21 ประเทศ เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือสมาร์ทวีซ่าสำหรับบุคคลเข้ามาพำนักในประเทศไทยชั่วคราวสำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง กลุ่มนักลงทุน กิจการร่วมลงทุน และกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนในการช่วยผลักดันให้มีการประกอบธุรกิจและการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กรมฯ ได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การได้รับการลดหย่อนภาษี และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจ รวมทั้งมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ