พลังงาน เดินหน้าผลักดันใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้า-เพิ่มสัดส่วนผสมในดีเซล หวังช่วยปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2018 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ด้วยการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้า และมาตรการต่อเนื่องระยะยาว ในการใช้น้ำมันปาล์มดิบผสมในไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร ดังนี้

1. การใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร เป็นต้น ในปริมาณ 160,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ กฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ในราคา 18 บาท/กิโลกรัม (กก.) ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยจะร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดหาจากเกษตรกรผู้ผลิตที่ลานเท และโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่เดือนธ.ค.61 เป็นต้นไป และใช้ในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค.62

กฟผ. จะใช้เงินในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 2,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะได้รับชดเชยต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาท จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ. โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

2. การใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคขนส่ง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ที่สัดส่วน 6.6% ในน้ำมันดีเซล ซึ่งมีการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีมาตรการที่จะผสมในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% และจะทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น 80,000 ตัน/ปี ในส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B20 มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 ล้านลิตร/วัน จะใช้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 500,000 – 600,000 ตัน/ปี โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตั้งเป้าหมายการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 200,000 ตัน

จากมาตรการดังกล่าวข้างต้น ทั้งมาตรการเร่งด่วนในการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์ม และการส่งเสริมการใช้เพิ่มขึ้นในภาคขนส่งในเดือนธ.ค.61-พ.ค.62 จะมีการดูดซับน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ประมาณ 400,000 ตัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มส่วนเกิน

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้น จะสามารถลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสู่ระดับปกติและพยุงราคาปาล์มทะลายให้อยู่ระดับราคา 3.25 บาท/กก. ได้ แต่สภาพโดยรวมของตลาดน้ำมันปาล์ม ยังมีปัจจัยกดดันจากการที่สหภาพยุโรป (อียู) มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในส่วนของอาหารและเชื้อเพลิง จึงยังไม่ควรเพิ่มผลผลิตปาล์มทะลายในช่วงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ