พาณิชย์ จับมือนักธุรกิจไทยระดมสมองเจาะลึกตลาดเวียดนาม เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2018 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส. บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังเจาะตลาดเชิงรุกประเทศเวียดนาม ทำการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์การค้าการลงทุนในพื้นที่ ผ่านกลไกสานพลังประชารัฐ ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายในสังกัดของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ (HTA) ของกระทรวงพาณิชย์ในเวียดนาม เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลการตลาดด้านต่างๆแล้ว ในครั้งนี้ ยังได้ผนึกกำลังกับนักธุรกิจไทยสาขาต่างๆในเวียดนามที่รู้จริงรู้ลึก เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัญหาอุปสรรค และโอกาสทางธุรกิจของไทยในเวียดนามได้อย่างเจาะลึก และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

"กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทยกับแต่ละประเทศ CLMV ได้จัดประชุมคณะทำงานฯครบทั้ง 4 คณะแล้ว ซึ่งผลการประชุมในส่วนคณะทำงานฯไทยกับเวียดนาม มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยขยายธุรกิจสู่เวียดนาม โดยให้ดำเนินการผ่านช่องทางจัดจำหน่ายทั้ง 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแบบดั้งเดิม ช่องทางแบบสมัยใหม่ และอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากปัจจุบัน ช่องทางจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิมยังเป็นช่องทางหลักในเวียดนาม โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ส่วนช่องทางสมัยใหม่ เป็นโอกาสเนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม และอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ช่องทางแบบดั้งเดิมค่อนข้างเข้ายาก และผู้ประกอบการไทยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลการกระจายสินค้าของเวียดนาม (distribution model) ประกอบกับตลาดเวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่มีคู่แข่งจำนวนมาก จึงต้องมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ในส่วนช่องทางสมัยใหม่ การเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางนี้มีความง่ายกว่า แต่มีค่าธรรมเนียมต่างๆค่อนข้างมาก นอกจากนี้ พื้นที่ภาคเหนือกับภาคใต้มีความแตกต่างกันทั้งพฤติกรรมการบริโภค และผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีกด้วย"

สำหรับข้อมูลที่ได้จากการระดมสมองครั้งนี้ น.ส.บรรจงจิตต์ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA จัดสัมมนาเสริมสร้างองค์ความรู้เจาะลึกตลาดเวียดนามให้แก่ผู้ประกอบการ ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภค รูปแบบการกระจายสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์และการตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาดในพื้นที่ต่างๆ (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้) ของเวียดนาม รวมถึงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ประจำเวียดนาม (Honorary Trade Advisor to the Ministry of Commerce - HTA) มาบรรยายและให้คำปรึกษาแนะกลยุทธ์การเจาะตลาดเชิงลึกเพื่อติดอาวุธเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยด้วย

น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าวว่า การระดมสมองเจาะลึกตลาดเวียดนามดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนงานของคณะทำงานขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทยแต่ประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ และมีองค์ประกอบเป็นผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีเครือข่ายกว้างขวางในแต่ละพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โอกาสและอุปสรรคทางการค้าการลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมชัดเจน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการค้าการลงทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที โดยมีนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ปัจจุบันมูลค่าการค้าไทย-เวียดนาม เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในอาเซียน การค้าของไทยกับเวียดนาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 13,141.13 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.74 ต่อปี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 การค้ารวมไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 13,676.69 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและเวียดนาม ได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดำเนินงานสานพลังประชารัฐ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้ง ถือเป็นกลไกสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ใช้ในการเจาะตลาดต่างประเทศเชิงรุก โดยในปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์มีที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศประจำภูมิภาคต่างๆจำนวน 35 ราย ใน 23 ประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ