BAY มองค่าเงินบาทปี 62 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ จากดอลล์อ่อน หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 18, 2018 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยถึงทิศทางตลาดเงินในปี 62 และปัจจัยท้าทายว่า ภาพรวมของตลาดเงินยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังสร้างความสับสนต่อทิศทางการเจรจาการค้าฯ ให้กับตลาด และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าสหรัฐฯ จะสามารถรับมือกับสงครามการค้าฯ ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ก็เริ่มเห็นทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวลง

ทั้งนี้ คาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 62 มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยประเมินกรอบเคลื่อนไหวในไตรมาส 1/62 จะอยู่ที่ 31.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ จากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลง โดยคาดจะปรับขึ้นในปีนี้อีก 1 ครั้ง และในปีหน้าอีก 3 ครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงปลายวัฎจักรของการเติบโต ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกราวปลายปี 62 และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

สำหรับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยมองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.นี้) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 1.50% สู่ระดับ 1.75% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่งสู่ระดับ 2.00% ในไตรมาส 1/62 ก่อนจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 62 อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.คาดว่าจะสะท้อนไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปีหน้า

นายตรรก กล่าวว่า ธนาคารมองแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตช้าลง โดยคาด GDP จะเติบโตราว 4.1% เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกจะเติบโต 4.5% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโต 7.8% ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมองแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากกิจกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ

"การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่แนวโน้มการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวและการส่งออกยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันมองความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และนโยบายลงทุนจากภาครัฐ เช่น EEC จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการเติบโตในระยะข้างหน้า"นายตรรก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ