รฟท.เปิดรับฟังความเห็นโครงการพัฒนาพื้นที่ใกล้สถานีขอนแก่น 108 ไร่ มูลค่า 5-8 พันลบ. คาดศึกษาเสร็จ 3-4 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 7, 2019 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการ การถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารบ้านพักพนักงาน,อาคารที่ทำการ และสนามกอล์ฟที่สถานีขอนแก่น รฟท. ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นเพื่อทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) และหลังจากนี้จะลงพื้นที่สอบถามความต้องการของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นด้วย

"วันนี้เป็นการจัดทำ Market Sounding ครั้งแรก เอาแนวความคิดที่ทางที่ปรึกษาทำการวิเคราะห์ทำการตลาดมาเปิดให้เอกชน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟัง และแสดงความคิดเห็น จึงต้องย้ำว่ารูปแบบพัฒนาโครงการเปลี่ยนไปได้ ปรับได้ อยู่ที่มุมมองของผู้พัฒนาโครงการ หลังจากวันนี้เราก็จะลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นของชุมชนโดยรอบสถานีขอนแก่นด้วย เพื่อทำให้โครงการพัฒนานี้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ซึ่งคาดว่าหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่ปรึกษาจะสามารถสรุปรูปแบบแผนพัฒนาแล้วเสร็จในอีก 3-4 เดือน"

สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีขอนแก่น ในเบื้องต้นจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 แปลง บนพื้นที่ราว 108 ไร่ มูลค่าโครงการ 5-8 พันล้านบาท โดยจะแบ่งออกเป็น โซนบี 16.2 ไร่ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณย่านสถานีรถไฟ (TOD) ใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และค้าปลีก โซนซีและโซนดี รวม 16.5 ไร่ พัฒนารองรับโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า โซนอี 58.6 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สวนสนุกและพื้นที่สันทนาการ และพื้นที่โซนเอฟ 8 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ประเภทกลุ่มอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟ ขณะที่พื้นที่โซนเอ มีการประมูลไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงไม่รวมอยู่ในโครงการนี้ โดยจะพัฒนาเป็นตลาดและที่อยู่อาศัย

นายวรวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า สถานีขอนแก่นถือเป็นที่ดินที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากในอนาคตจะมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงผ่านมายังสถานีนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อไทย ลาว และจีน ประกอบกับมีโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างพัฒนา รวมไปถึงโครงการพัฒนาระบบขนไฟมวลชนรางเบา ที่ท้องถิ่นอยู่ระหว่างพัฒนา ดังนั้น สถานีขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อหลายเส้นทาง มีผู้ให้บริการในจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารจากรถไฟทางคู่ เส้นทางจิระ - ขอนแก่น ก็คาดว่าจะมีเฉลี่ย 2-3 หมื่นคน/วัน

พื้นที่ทั้ง 5 โซนเป็นพื้นที่ต่อเนื่องถึงกัน โดยมีโครงการหลักๆผ่านพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น ซึ่งเป็นทางยกระดับ คาดว่าปีหน้าจะเปิดเดินรถได้ คาดจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2-3 หมื่นคน/วัน ,โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยช่วงแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ที่คาดว่าเปิดเดินรถในปี 66 และช่วง นครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย คาดจะเริ่มก่อสร้างปี 64 และ สร้างแล้วเสร็จปี 69 นอกจากนี้ ขอนแก่นจะมีระบบขนส่งรางเบา และ สมาร์ทซิตี้

ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ประมาณ 18-24 เดือนนับจากวันนี้ซึ่งทำ Market Sounding ครั้งแรก ส่วนระยะเวลาเช่าที่ดิน เบื้องต้นจะให้เช่า 30 ปี และระยะเวลาก่อสร้าง ยกเว้นพ.ร.บ.(แก้ไข)การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ ฯ หรือ พ.ร.บ. PPP สามารถมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ผ่านวาระที่ 1 ในสภาฯแล้ว โดยตามกฎหมายนี้จะให้เช่าเป็นเวลา 50 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับครม.และรฟท. นายวรวุฒิ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลโครงการไปยังสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. )แล้ว โดยคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมครม. ในส่วนแรก 3 โครงการ ซึ่งเป็นแนวเส้นทางในภาคอีสาน ประกอบไปด้วย เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย เส้นทางจิระ-อุบลราชธานี และรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม เนื่องจากโครงการเหล่านี้เป็นแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมต่อการขนถ่ายสินค้าจากพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องพัฒนา

ด้านที่ปรึกษา ระบุว่า ในเรื่องการออกแบบควรมีแผนแม่บทในการพัฒนาที่ดินทั้ง 5 โซน และเห็นว่าควรเป็นนักลงทุนรายเดียวที่เข้าไปพัฒนาเพราะมีความเป็นไปได้ศักยภาพการลงทุนของนักลงทุนรายเดียวได้เพราะมูลค่าโครงการไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามเปิดให้เอกชนเสนอได้ว่าจะแยกแปลงหรือรวมแปลงพัฒนา

ด้านนายชาญณรงค์ บุริมีตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น และ ตัวแทนบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวไม่เห็นด้วยที่โซนอี จะนำไปลงทุนเป็นสวนสนุก เพราะมองแล้วไม่มีดีมานด์ แต่น่าจะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย หรือศูนย์การเรียนรู้ ที่จะเป็นจุดที่คนพื้นที่ได้เข้ามาใช้ นอกจากนี้เสนอให้นำที่ดินของกรมวิจัยข้าวซึ่งอยู่ติดถนนมิตรภาพและอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ของรฟท. ร่วมกันพัฒนาจะทำให้เพิ่มพื้นที่ประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมรับฟังได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท (PS) บมจ.ซีพีแลนด์ บมจ.สัมมากร (SAMCO) บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) เป็นต้น

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า รฟท.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อีกหลายแห่ง เพื่อสร้างรายได้นอกเหนือจากการเดินรถ (นอนคอร์) อาทิ ที่ดินสถานีแม่น้ำ ที่ดินสถานี กม.11 ที่ดินธนบุรี และที่ดินย่านอาร์ซีเอ ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาเช่าในปี 65 และ รฟท.มีแผนนำมาพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ โดยมั่นใจว่าการมุ่งหารายได้นอนคอร์จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ รฟท.มีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน เฉพาะในปี 62 คาดว่าจะสร้างรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น 10% หรือปิดตัวเลขราว 3.8 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดินรถ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ