(เพิ่มเติม) กยท.เปิดยุทธศาตร์ยางพารา 20 ปี ลดพื้นที่ปลูก พร้อมเพิ่มปริมาณผลผลิต-ใช้ในประเทศ-ส่งออก-รายได้ชาวสวน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2019 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้บรรลุผลสำเร็จ 5 เรื่อง คือ

1. ลดพื้นที่ปลูกยางลง 23.3 ล้านไร่ ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่

2. เพิ่มปริมาณผลผลิตยาง จาก 224 กก./ไร่/ปี ให้เป็น 360 กก./ไร่/ปี

3. เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ จาก 13.6% ให้เป็น 35%

4. เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จาก 250,000 ล้านบาท/ปี ให้เป็น 800,000 ล้านบาท/ปี

5. เพิ่มรายได้ในการทำสวนยาง จาก 11,984 บาท/ไร่/ปี ให้เป็น 19,800 บาท/ไร่/ปี

นายเยี่ยม กล่าวว่า การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ยุทธศาสตร์นี้ได้วางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-5 ปีแรก จะมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน, อุทยานแห่งชาติ, การโค่นต้นยางเก่า และปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี, การปรับปรุงแก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา การผลักดันการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ, การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และการจัด Road Show ในประเทศเป้าหมาย เป็นต้น

ส่วนปีที่ 6-10 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา จะเน้นไปที่การปรับปรุง พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐาน มอก., การนำผลวิจัยไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ฐ การจัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้ายางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย, การจัดทำตราสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา, การออกมาตรการด้านการเงิน เพื่อจูงใจผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มขึ้น และการพัฒนาการซื้อขายยางพาราในรูปของ กองทุน ETF ยางพารา และการพัฒนา กองทุนรักษาเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น

ขณะที่ปีที่ 11-20 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับทดแทนแรงงานคนในสวนยางในระยะยาว, การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา และการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย เป็นต้น

สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน

"ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี" นายเยี่ยม ระบุ

เมื่อถามว่ายุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีที่เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2560-2579 นั้น แต่ขณะนี้เข้าสู่ปี 2562 ถือว่าขณะนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วมีความก้าวหน้าอย่างไร โครงการต่างๆ ของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนยางพาราได้จริงหรือไม่ สหกรณ์มีความเข้มแข็งจริงหรือไม่ นายเยี่ยม กล่าวว่า รายละเอียดของแผนงานต่างๆ จะเร่งทำให้ชัดเจน ไม่ว่าแผนยุทธศาสตร์ที่ทำออกมาแล้วจะใกล้เคียงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ไทม์ไลน์ของยุทธศาสตร์ยางพาราสำเร็จลุ่ลวง

ในส่วนของนโยบายนำยางมาทำถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีและควรจะทำต่อไป โดยขณะนี้ต้องรอองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประชุมใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อขอมติเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดจะมีการทำถนนพาราซอยด์ซีเมนต์กี่กิโลเมตร จะต้องใช้น้ำยางเท่าไร หลังจากนั้น กยท.จังหวัดจะประสานกับสหกรณ์ที่ผลิตน้ำยางสดในแต่ละจังหวัดในเรื่องการจัดหา รวมทั้งคุณภาพน้ำยาง เปอร์เซ็นต์น้ำยางสด และราคาที่ กยท.ประกาศเป็นรายวัน เพื่อให้ชาวสวนยางขายน้ำยางสดได้ในราคาที่เป็นธรรมและคุ้มค่ากับการลงทุน

สำหรับมาตรการช็อปยางช่วยชาติที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 15 ม.ค.นี้ นายเยี่ยม กล่าวว่า ได้รับรายงานว่ามีการสั่งซื้อยางในประเทศไปใช้แล้ว 3,000 ตัน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีระยะเวลาสั้นๆ ที่ต้องการกระตุ้นให้ฉุกคิดว่าวิธีการจะใช้ยางเพิ่มขึ้นมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือวิธีนี้ ต้องการให้ภาคเอกชน บริษัทยางล้อมาร่วมทำงานกับภาครัฐใกล้ชิดขึ้น ประเด็นที่ 2 ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ถ้าต้องการซื้อยางล้อแล้วได้ลดหย่อนภาษีก็สามารถทำได้ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ได้ผลเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญในตัวมันเอง ไม่ได้คาดหวังว่าใน 1 เดือนจะมีการสั่งซื้อยาง 10,000-20,000 ตัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แค่สาธารณชนเข้าใจ ภาคเอกชนและประชาชนคิดว่ามีประโยชน์ก็จะดำเนินการต่อในรูปแบบต่างๆ

"อาจจะเป็นมาตรการอื่น หรือมาตรการนี้ในระยะต่อไป ก็ต้องประเมินผลอีกครั้งหลังสิ้นสุดโครงการช็อปยางช่วยชาติ สำคัญคือต้องการให้ชาวสวนยางมีรายได้จากการปลูกยางที่คุ้มค่าการลงทุน และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ใช้ยานยนต์"นายเยี่ยมกล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตยางล้อยังไม่ค่อยเชื่อมั่นยางแผ่นรมควันที่ผลิตและส่งโดยสหกรณ์ แต่ถ้านำยางล็อตแรก 3,000 ตันไปทดลองใช้ ซึ่งเป็นยางที่ กยท.เข้าไปช่วยกำกับดูแลเรื่องมาตรฐาน GMP เชื่อมั่นว่าบริษัทผู้ผลิตยางล้อเหล่านี้จะสั่งซื้อยางแผ่นรมควันได้โดยตรงจากสหกรณ์เพิ่ม แม้จะมีโครงการช็อปยางช่วยชาติหรือไม่มีก็ตาม ที่สำคัญยังสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าซื้อผ่านผู้ประกอบการเอกชน ขณะเดียวกันชาวสวนยาง สหกรณ์ที่ผลิตยางแผ่นรมควันก็สามารถขายยางได้โดยตรงและสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าปลายไตรมาส 1 ถึงไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นยางผลัดใบขณะที่ความต้องการใช้ยังมีต่อเนื่องตามปกติ การซื้อขายล่วงหน้าก็กลับมามองปัจจัยพื้นฐาน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลาย ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็เริ่มดีขึ้น จะช่วยให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เงินบาทแข็งค่า ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ราคายางจะยิ่งปรับตัวดีขึ้น

สำหรับแผนงานในระยะต่อไปคือ อยู่ระหว่างหารือกับกลุ่มบริษัทอาลีบาบาในการจัดทำแพลตฟอร์มซื้อขายยางทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับไทยเพื่อไว้ใช้ซื้อขายร่วมกัน คาดว่าไม่เกิน 1-2 เดือนจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เบื้องต้น กยท.กำหนดประเภทยางที่จะส่งขายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ 1.น้ำยางข้น 2.ยางแท่ง (เอสทีอาร์20) และ 3.ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (อาร์เอส3) โดยยางเหล่านี้จะมาจากสถาบันเกษตร หรือสหกรณ์ที่สามารถผลิตยางและแปรรูปยางพาราได้

สำหรับราคายางวันนี้ อ้างอิงราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 45.70 บาท/กก. ยางแท่ง อยู่ที่ 43.27 บาท/กก.


แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ