กรมทางหลวง คาดออกTOR งาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช,บางใหญ่-กาญจนบุรี กลางก.พ. ขายซองต้นมี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2019 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง คาดว่าในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้จะออกร่างเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR)โครงการการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี และสามารถเปิดขายซองเอกสารได้ราวต้นเดือนมี.ค.นี้ โดยจะให้ยื่นซองประมูลในช่วงเดือน ก.ค. คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในเดือน ธ.ค.62

โดยขณะนี้ คณะกรรมการ 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเงื่อนไข ที่มีการปรับปรุงจากเดิม เช่น เพิ่มระยะเวลาก่อสร้างจาก 2 ปี 6 เดือนเป็น 3 ปี และจะเปิด PPP การให้เอกชนร่วมลงทุน O&M มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย พร้อมกัน

นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทย เช่น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) , บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) , บริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ จำกัด และต่างชาติ.ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ และการจัดเก็บค่าผ่านทาง ทั้งจาก ฝรั่งเศส,ญี่ปุ่น,จีน,เกาหลี,ไต้หวัน,สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์เปิดประมูลนานาชาติ (Inter Bidding) สัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยไม่น้อยกว่า 51%

ในวันนี้ อธิบดีกรมทางหลวงได้ชี้แจงกรณีสื่อโซเชียลระบุถึงกรณีที่กรมทางหลวงให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานจัดเก็บเงินและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M)โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 33,258 ล้านบาท และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) วงเงิน 27,828 ล้านบาท ทั้งที่รัฐบาลได้ใช้งบประมาณก่อสร้างไปกว่าแสนล้านบาท นั้น เท่ากับรัฐไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่. จากข้อเท็จจริงคือ รัฐจ่ายค่าจ้างให้เอกชนเข้ามาทำการเก็บเงินค่าผ่านทาง ซ่อมบำรุงรักษา รายได้ทั้งหมดจากค่าผ่านทางจะเป็นของรัฐ โดยตามเงื่อนไขจะให้เอกชนเข้ามารับหน้าที่ก่อสร้างอาคาร ระบบ และ ด่านเก็บเงิน ที่มีความทันสมัย ระยะเวลา 30 ปี

โดยรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP Gross Cost) จากการศึกษาพบว่า มีข้อดี เอกชนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่ารัฐทำเอง , รัฐสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินงาน ค่าบำรุงรักษาตลอดระยะ 30 ปี, ผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ในหลายด้าน เช่น การระบายจราจรหนาด่าน ความช่วยเหลือกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ความเรียบผิวถนน การซ่อมบำรุงต่างๆ ครอบคลุมการดำเนินงานทุกมิติ ,ลดภาระงบประมาณภาครัฐในด้านบุคลากร เนื่องจากพบว่า ปัจจุบัน การดูแลบริหารมอเตอร์เวย์สาย กรุงเทพ-ชลบุรี-พัทยา และวงแหวนตะวันออก ใช้ผู้ปฎิบัติงานกว่า 2,200 อัตรา. และจากการประเมินหากกรมทางหลวงดำเนินการจัดเก็บ บำรุงรักษา มอเตอร์เวย์สาย M 6,M 81 เอง จะใช้ลูกจ้าง ตลอด 24 ชม. จำนวน 3 กะ มากกว่า 2,000 อัตรา จะเป็นภาระงบประมาณ ค่าใช้จ่านในอนาคต เพราะนอกจากค่าจ้างแล้วยังมีค่าก่อสร้างที่พัก สวัสดิการต่างๆ ขณะที่เอกชนมีความคล่องตัวกว่า

สำหรับ การก่อสร้างงานโยธาสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. จำนวน 40 ตอน ขณะนี้ก้าวหน้าประมาณ 60% โดยมี 3 ตอนที่งานโยธาเสร็จ100% แล้ว ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. จำนวน 25 ตอน งานโยธาคืบหน้า 25% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืน ที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติปรับเพิ่มกรอบค่าเวนคืน จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 17,000 ล้านบาท โดยจะของบประมาณเวนคืนเพิ่มเติมไม่เกิน 8,000 ล้านบาท เนื่องจาก ได้รับแล้วก่อนหน้านี้ 5,420 ล้านบาท ขณะที่มีเงินจากการประหยัดค่าก่อสร้าง อีก 5,000 ล้านบาท. โอนมาช่วยจ่ายค่าเวนคืน ซึ่งขณะนี้ยังเหลือต้องเวนคืนอีกประมาณ 3,000 แปลง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปลายปี 64 ในส่วนที่การก่อสร้างโยธาแล้วเสร็จ และอาจจะต้องเปิดให้ใช้ฟรีไปก่อนหากระบบด่าน ยังไม่เรียบร้อย พร้อมกับเร่งการก่อสร้างระบบ O&M ทั้ง2 สาย คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 65


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ