นายกฯ หนุนเดินหน้า"เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้"-"เมืองนวัตกรรมอาหาร"ปูทางปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 2, 2019 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) ว่า รัฐบาลผลักดันโครงการที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นเส้นทางสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในอนาคต บนพื้นฐานของทรัพยากรในประเทศ ได้แก่

(1)โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งเป็นการพัฒนาภูมิภาค ที่เกิดจากการวิเคราะห์ความพร้อม และความเชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับการพัฒนา และกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เช่นเดียวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อีก 10 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับโครงการ SEC ได้ศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช และเพื่อให้การพัฒนา SEC เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี รัฐบาลได้กำหนดให้มีการพัฒนา SEC ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก เพื่อให้ระนองมีความพร้อมที่จะเป็น "ประตูเศรษฐกิจด้านตะวันตก" ของประเทศและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอย่างครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพิ่มความได้เปรียบของไทยในเวทีการค้าโลก

โดยการดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ท่าเรือระนองจะถูกยกระดับเป็นท่าเรือน้ำลึกของภูมิภาค สามารถรองรับการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศ , มีทางรถไฟและถนนเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับโครงข่ายคมนาคมขนส่ง , ในปี 2565 รถไฟทางคู่จะลงมาถึงชุมพรและเชื่อมไปยังระนอง ซึ่งมีแผนพัฒนาต่อไปยังสุราษฎร์ธานีจนถึงปาดังเบซาร์ , ถนนสายหลักจากชุมพรมายังระนองจะเป็น 4 ช่องจราจร ควบคู่กับการพัฒนาถนนสายรองให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดโครงข่ายที่สมบูรณ์รองรับการเดินทางท่องเที่ยวและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ นอกจากนี้ท่าอากาศยานในทั้ง 4 จังหวัดจะได้รับการพัฒนาให้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 10 ล้านคนต่อปี

2. การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามันโดยชุมพรและระนองจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ ด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว Royal Coast ตั้งแต่สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และมายังระนองแล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวในพังงา ภูเก็ต กระบี่ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก เกิดเป็นหนึ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวต่อเนื่องทางทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งยังคงมีความบริสุทธิ์ สงบ และสวยงาม

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูงด้วยความหลากหลายของพืชเกษตรใน SEC โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช SEC จะเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพของภูมิภาคโดยเฉพาะในเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมันเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงของ EEC และ 4.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่

(2) โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ แบบครบวงจร ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมบนพื้นฐานของพืชผลทางการเกษตร ที่มีอยู่อย่างมากมาย แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก โดยจะขายออกไปในลักษณะ วัตถุดิบ ไม่ใช่นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่มีมูลค่าสูง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลนี้จึงผลักดันให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนและส่งออกนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวันข้างหน้าให้ได้โดยเร็ว

สำหรับโครงการนี้จัดตั้งขึ้นตามนโยบาย Super Cluster ของรัฐบาล เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารเพื่อให้เกิดกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ให้ได้ผลงานต้นแบบเพื่อนำไปสู่การต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ โดยเมืองนวัตกรรมอาหารเป็นศูนย์รวมบริษัทอาหารชั้นนำของโลก บริษัทอาหารขนาดใหญ่ของไทย บริษัทอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสตาร์ทอัพด้านอาหารที่เป็น "ห่วงโซ่อุปทาน" เข้ามาอยู่แหล่งเดียวกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่มูลค่าอาหารของไทย นอกจากนี้ยังรวบรวมมหาวิทยาลัยชั้นนำ สถาบันวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้สินค้าเกษตรของไทย

ทั้งนี้ ในเมืองนวัตกรรมอาหารนี้จะมีบริษัทอาหารชั้นนำของโลก บริษัทอาหารชั้นนำของไทย บริษัทอาหารรายย่อย รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านอาหารเข้ามาลงทุนทำวิจัยพัฒนา มีมาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก เพื่อให้นักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศและไทย เข้ามาทำงานตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหาร ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการสนับสนุนอื่น ๆ เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน และเงินสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้กลไกประชารัฐสนับสนุนการดำเนินงาน

ในอนาคต เมืองนวัตกรรมอาหารจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารชั้นนำของภูมิภาคและของโลก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และแข่งขันได้ในระยะยาว อีกทั้งสร้างรายได้ตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่เกษตรกรไปถึงผู้ประกอบการ นำไปสู่ความเป็นส่วนกลางที่ประเทศไทยจะตอบสนองต่อความมั่นคงของอาหาร ความปลอดภัยอาหาร ความยั่งยืนด้านอาหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ