คมนาคม-อุตสาหกรรม ร่วมวางแนวทางพัฒนาระบบราง เล็งโอกาสตั้งโรงงานผลิตในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 5, 2019 18:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงแนวทางการพัฒนาการผลิตระบบขนส่งมวลชนทางราง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย โดยได้มีการคาดการณ์ความต้องการใช้รถของโครงการระบบราง 3 ประเภท คือ รถไฟฟ้า รถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูง พัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ และกำหนดเป็นแผนงานเพื่อสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีรถโดยสาร 1,183 ตู้ ส่วนรถไฟฟ้าทุกระบบมี 413 ตู้ และคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการตู้รถไฟไม่น้อยกว่า 1,000 ตู้ ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟของไจก้า ระบุว่า จุดคุ้มทุนในการตั้งโรงงานประกอบรถไฟอยู่ที่ 300 ตู้/โรงงาน/ปี ขณะที่นโยบายรัฐมีการลงทุนระบบรางจำนวนมาก และวางแผนเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศทั้งผู้โดยสารและสินค้า ต้องการขบวนรถจำนวนมาก จะซื้ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย และจากปริมาณดังกล่าว มีความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติจะกำหนดเป็นเงื่อนไข TOR ในการจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่าการผลิตรถไฟทุก 1,000 ตู้ จะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท/ปี ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% จะลดการนำเข้าได้มูลค่า 18,000 ล้านบาท ประหยัดค่าซ่อมบำรุง และค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ 4,300 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และความสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน กำหนดเวลา และเงื่อนไขการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ เป็นช่วงเวลา ซึ่งภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศ หรือบริษัทที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น ส่วนภายในปี 2565 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ

จากนั้นภายในปี 2567 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า และภายใน 2568 เป็นต้นไป การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณที่ผลิตในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่ ระบบตัวรถ ระบบช่วงล่างของโครงสร้างตัวรถ และระบบขับและควบคุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ