คมนาคม คาดรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-โคราช ทำสัญญาสร้างครบในพ.ค.,เตรียมชงโคราช-หนองคายทันรัฐบาลนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 14, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟไทย-จีน ว่า ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร ในตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เป็นไปตามแผน ส่วนตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. จะลงนามสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาในวันที่ 6 มี.ค.

ขณะที่โครงการระยะ 1 ในเส้นทางที่เหลือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศ TOR ประกวดราคา จำนวน 5 สัญญา ระยะทาง 144.06 กม. วงเงินรวม 58,427,582 ล้านบาท ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กำหนดยื่นซองในเดือน มี.ค.

ส่วนอีก 7 สัญญาที่เหลือนั้น จะทำราคากลางจะเสร็จใน ก.พ.และออกTOR ได้ในเดือน มี.ค. และสรุปผลประมูลเดือน เม.ย. ลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา ได้ครบในเดือน พ.ค.62

นายอาคม กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.62 โดยคณะกรรมการฝ่ายไทยได้หารือถึงรายละเอียดของสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) เรื่อง เงื่อนไข เรื่องความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะพยายามเจรจาเพื่อหาข้อยุติ จากนั้น จะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งเป้าลงนามสัญญา2.3 ได้ประมาณเดือนมี.ค.

โดยสัญญา 2.3 นั้นจะเป็นงานเหนือรางขึ้นไป เช่น การวางราง ไม้หมอน เสาสัญญาณ ระบบอาณัติสัญญา ตัวรถ และการดูแลรักษา โดยมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น จีนเสนอรับประกันรถไฟความเร็วสูงหรือการันตีให้ 1 ปี แต่ฝ่ายไทยต้องการให้รับประกัน 2 ปีตามมาตรฐานสากล ส่วนค่าปรับกรณีล่าช้า จีนเสนอ 0.0001% แต่ตามระเบียบของไทยกำหนดไม่เกิน 0.1% ซึ่งจีนยอมปรับลงตามลำดับ

และค่าปรับกรณีงานก่อสร้างงานโยธาหากฝ่ายไทยทำล่าช้า จีนจะขอเรียกเป็นเงินค่าปรับ แต่ตามกฎหมายไทยไม่มี โดยจะให้มีการขยายเวลาดำเนินงานแทน เพราะความล่าช้าอาจจะเกิดจากปัญหาการเข้าพื้นที่ไม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ จุดยืนของไทยจะใช้กฎหมายไทยเป็นหลัก ขณะที่จีนเสนอมาหลายประเด็นและข้อเสนอส่วนใหญ่จีนจะไม่ได้ร่วมรับผิดชอบใดๆ

สำหรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 นั้น อยู่ระหว่างการโยกย้ายรายการก่อสร้างจากงานโยธา เนื่องจากจีนใส่รายการผิดพลาด ซึ่งการโยกงบไม่ได้ทำให้วงเงินโครงการเพิ่มแต่อย่างใด เช่น รถอัดหิน อุปกรณ์ต่างๆ

ด้านเงินกู้ที่นำมาใช้ในโครงการนั้น เบื้องต้นกระทรวงการคลังแจ้งว่า อัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอไม่เกิน 3% ระยะปลอดดอกเบี้ย 5 ปี ระยะเวลากู้ทั้งหมด 25 ปี เป็นเงื่อนไขที่รับได้ในขณะนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เจรจาซึ่งรอการสรุปเนื้องานและกรอบวงเงินของสัญญา 2.3 ประกอบการพิจารณา

นายอาคม กล่าวว่า จะสรุปรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) โครงการระยะ ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อ ครม.ได้ในรัฐบาลชุดนี้ และอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด จำนวน 797 ล้านบาท โดยไทยดำเนินการศึกษาออกแบบเอง โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ