สศช. จับตาหนี้สินครัวเรือน หลังยอดผิดนัดชำระหนี้เร่งตัวขึ้น/แนะเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองถาวร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2019 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2561 โดยระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/61 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 77.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับไตรมาส 4/61 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 9.4% ด้านความสามารถในการชำระหนี้เริ่มส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อพิจารณาหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 8.9% เทียบกับ 4.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2560

ด้านการผิดนัดชำระหนี้ โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง 9.9% ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตเริ่มมีอัตราขยายตัว 0.3% จากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/59 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มการก่อหนี้ประเภทการบริโภคอื่นๆ ซึ่งบางส่วนเป็นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นที่เกิดจากแรงจูงใจจากการส่งเสริมทางการตลาดของผู้ประกอบการ และควรส่งเสริมการให้ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินแก่ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างวินัยทางการเงินและการออมในทุกช่วงวัย ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการด้านหนี้สินครัวเรือน อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการคลินิกแก้หนี้ มาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ

ขณะที่ไตรมาส 4/61 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.9% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร 2.4% และ 1.7% ตามลำดับ ในสาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม และสาขาการขายส่งขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และของใช้ส่วนบุคคล โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.0% 4.6% 2.6% และ 1.5% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.9% โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน 7.7% และ 21.4% ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.5% ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 0.9% แต่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในภาคเกษตรลดลง 2.4% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.8%

ภาพรวมในปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.1% จากปี 2560 เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตร 3.3% และ 0.1% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก (1) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น (2) ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ทำให้มีการจ้างงานภาคการผลิตเพิ่มขึ้น และ (3) การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และการขยายตัวของการค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งรูปแบบปกติและการค้าออนไลน์ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.1% โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน 10.1% และ 10.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดียังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่ามีความต้องการแรงงานที่จบทุกระดับการศึกษาแต่ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรีและสูงกว่ามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 3.0% เป็นผลจากการยกระดับทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ 1.7% และ 4.0% ตามลำดับ

ประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังในระยะต่อไป คือ (1) ผลกระทบจากสภาพอากาศ และราคาสินค้าเกษตรต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากข้อมูลปริมาตรน้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ 69% ของระดับกักเก็บของอ่างเก็บน้ำหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานอาจจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ รวมถึงการจ้างงานในภาคเกษตร ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2562

(2) ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และการส่งออกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และการจ้างงานในภาคการผลิต และภาคบริการ (3) ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานกึ่งทักษะ และทักษะสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ New S-Curve เช่น ดิจิทัล หุ่นยนต์ อากาศยาน และยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความตึงตัวเพิ่มขึ้น

(4) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการนำเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต การบริการและการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผลิตมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน และความต้องการแรงงานในบางอาชีพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้เกิดการเลิกจ้างและเปลี่ยนรูปแบบความต้องการแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นความต้องการแรงงานในกลุ่มกึ่งทักษะและแรงงานทักษะ โดยผลของเทคโนโลยีจะกระทบต่อแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งจะต้องมีแนวทางที่รองรับทั้งกลุ่มแรงงานที่ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและการเตรียมทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในงานที่จะเกิดขึ้นใหม่หรืองานที่ไม่สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงานในบางสาขาอาชีพ เช่น พนักงานธนาคาร พนักงานด้านการพิมพ์ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะสร้างความต้องการแรงงานในสาขาใหม่ เช่น นักเขียน application Youtuber เป็นต้น

(5) การเร่งส่งเสริมการสร้างหลักประกันให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเพียงร้อยละ 10.9 ที่มีหลักประกันทางสังคม นอกจากนั้นโครงสร้างประชากรของประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ขณะที่มีแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 30 ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ

ส่วนการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นอย่างต่อเนื่องปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 ) สูงปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีสาเหตุจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ประกอบกับสภาพอากาศปิด ลมสงบความเร็วต่ำ ทำให้อากาศลอยตัวไม่ดี และในอีกหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการเผาในที่โล่งทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีระดับฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ภาครัฐได้ดำเนินการเร่งด่วนในการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชนในการดูแลและป้องกันตนเองเมื่อต้องออกกลางแจ้ง รวมถึงการดำเนินงานเพื่อควบคุมมลพิษในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ระยะยาวจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างถาวร เช่น (1) การลดมลพิษจากภาคขนส่ง โดยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานไอเสียยูโร 5/6 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การปรับลดการตรวจสอบสภาพการใช้งานรถยนต์ (2) การลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้จากการเกษตรและประชาชนทั่วไป โดยสร้างความตระหนักถึงผิดภัยของมลภาวะฝุ่น การสร้างความร่วมมือและให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ทำเกษตรแก่เกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนตรวจสภาพรถยนต์ตนเอง การใช้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) การลดมลพิษฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม โดยการกำหนดเขตปลอดมลพิษ สนับสนุนให้สถานประกอบการมีการบำบัดมลพิษก่อนระบายสู่อากาศ การปกคลุมสิ่งก่อสร้างต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐต้องมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและครบวงจร รวมทั้งเร่งร่วมมือระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะพื้นที่อาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร นอกจากนี้ควรมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการปรับลดเพดานค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ