(แก้ไข) สรท. ถกแบงก์ชาติช่วยดูแลบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค เล็งหั่นเป้าหมายส่งออกใหม่อาจโตไม่ถึง 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2019 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางในการดูแลผลกระทบจากเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงปีนี้ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจส่งออก-นำเข้าของไทย ตลอดจนแนวทางในการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง สรท.ได้ขอให้ธปท. ช่วยดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปีนี้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน ซึ่งเป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและอ่อนค่าในบางช่วง รวมทั้งจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.61 ที่ติดลบต่อเนื่องกันมา 3 เดือนจนถึง ม.ค.62

"เรากังวลว่ามูลการส่งออกปีนี้จะต่ำกว่าเป้า 5% ตามที่ สรท.เคยคาดการณ์ไว้ ต้องขอดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 นี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่จะดูแลไม่ให้ติดลบ และจากนั้นจะทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่อีกครั้ง" ประธาน สรท.กล่าว

พร้อมระบุว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และยังยอมรับได้ เนื่องจากต้องมองไปในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งหลังจากได้หารือร่วมกับผู้ว่าฯ ธปท.แล้ว ก็มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะ ธปท.เองต้องดูแลหลายภาคส่วนไปพร้อมกัน

ประธาน สรท. กล่าวว่า จะย้ำให้สมาชิกของ สรท.ใช้เครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงและซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ทำการค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย เงินหยวนของจีน, เงินเยนของญี่ปุ่น, เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ยังต้องการเห็นประเทศในอาเซียนการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินของอาเซียนเองด้วย เพราะการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนมีสัดส่วนสูงเกือบ 25%

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า สรท.และ ธปท.ได้หารือร่วมกันถึงทิศทางการค้าโลก การส่งออกของไทย และค่าเงิน โดยเห็นร่วมกันว่าบรรยากาศการค้าโลกในปีนี้โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และโจทย์สำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้อย่างไร

สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะบรรยากาศการค้าโลก (global trade) การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งการปรับลด inventory ของผู้ประกอบการจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ที่ติดลบมากกว่า 10% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่การส่งออกในบางอุตสาหกรรมเช่น ภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง เป็นผลจาก trade war ที่ผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศของการค้าระหว่างประเทศ และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกมีไม่มาก และความสัมพันธ์ของ 2 เรื่องนี้ไม่ชัดเจน ดังที่เห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของเค้าจะไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท

น.ส.วชิรา ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ในขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังที่เห็นจากตัวเลขส่วนนี้ว่าเป็นการไหลออกสุทธิ ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศ emerging markets และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ด้าน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำได้หลายวิธี

เริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาผันผวนมาก ส่วนหนึ่งจากนโยบายในเรื่องสำคัญเช่น trade war ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปดอลลาร์สหรัฐเกือบ 80% แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐฯเพียง 10% กว่าเท่านั้นเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ก็อาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ได้เผยแพร่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD ระหว่างธนาคารได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากการที่ สรท. ได้เข้าหารือกับ ธปท. ในการหารือครั้งที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อ options ปัจจุบันภาครัฐมีโครงการ FX Options ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อ options หรือ lock rate เพื่อประกันความเสี่ยง โดยโครงการในระยะที่ 2 ได้ขยายวงเงินค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐสนับสนุนจาก 30,000 บาทเป็น 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถล็อคเรทมูลค่าประมาณ 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.75 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงอยากจะประชาสัมพันธ์โครงการนี้

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือได้หลากหลาย ธปท.ได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยราคา forward บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และสนับสนุนการต่อรองราคาได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรม FX ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารประกอบการทำธุรกรรม FX รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนไทยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในไทย ในวงเงิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกในเรื่องการทำธุรกรรม FX สามารถสมัครเป็น Qualified companies (QC) ได้ ซึ่งจะทำให้คล่องตัวขึ้นในเรื่องการแสดงเอกสารหลักฐาน

"ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่า เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้นในระยะยาว" น.ส.วชิรากล่าว

พร้อมระบุว่า สรท. และ ธปท. เห็นร่วมกันว่าท้ายที่สุด ในระยะยาวไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะเรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ แต่โจทย์ที่อาจจะสำคัญมากกว่าและต้องร่วมมือกัน คือ การช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัว และรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะอยู่กับเราอีกนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ