(เพิ่มเติม1) กกพ.มีมติคงค่า Ft ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.62 ที่ -11.60 สต./หน่วย ส่งผลค่าไฟคงเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2019 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ.มีมติให้คงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเรียกเก็บเดือนพ.ค.-ส.ค.62 ที่ระดับ -11.60 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย ไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดปัจจุบัน เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยกกพ.มีนโยบายเน้นการบริหารจัดการค่าเอฟทีให้ได้มากที่สุด ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน

"ผลจากการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้าในปี 2561 จึงทำให้มีเงินบริหารเอฟที จำนวน 4,576 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อคงค่าเอฟที บรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน"นางสาวนฤภัทร กล่าว

นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า หากไม่มีการคงค่าเอฟที ภายใต้สมมติฐานประมาณการค่าเอฟที ในช่วงเดือนพ.ค. -ส.ค. 62 จะส่งผลให้ค่าเอฟทีที่เรียกเก็บดังกล่าวเท่ากับ -4.20 สตางค์/หน่วย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.7136 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำหรับสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟที ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 62 ดังนี้ อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าเท่ากับ 31.00 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่ากว่าช่วง ม.ค.-เม.ย. 62 ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ระดับ 32.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ,ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 62 เท่ากับ 67,090 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 62 เท่ากับ 4,615 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ 7.39

สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 62 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 55.36 รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ร้อยละ 17.58 ลิกไนต์ และถ่านหินนำเข้า อยู่ที่ร้อยละ 8.74 ,แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 272.71 บาท/ล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 10.95 บาท/ล้านบีทียู

ราคาลิกไนต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 693 บาท/ตัน ไม่เปลี่ยนแปลง , ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,643.13 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,594.01 บาท/ตัน เท่ากับ 49.12 บาทต่อตัน , ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25.79 บาท/ลิตร เพิ่มจากงวดที่ผ่านมา 0.96 บาท/ลิตร , ราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 18.85 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 3.09 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 9.54 บาท/กิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 7-21 มี.ค.62 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

นางสาวนฤภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.62 จะต้องดูสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น ค่าเงินบาท ในอีก 4 เดือนข้างหน้า ส่วนผลกระทบจากการอุดหนุนพลังงานทดแทนที่ปัจจุบันส่งผลต่อค่าเอฟที 25 สตางค์/หน่วยนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันยังไม่มีโครงการพลังงานทดแทนใหม่เข้ามา ซึ่งคาดว่าโครงการพลังงานทดแทนใหม่จะเข้าระบบปลายปี 63-64

สำหรับความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนในปีแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้น คาดว่าจะสามารถออกประกาศรายละเอียดโครงการได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยราคารับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.8 บาท/หน่วย

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักภาคตะวันตกแห่งใหม่ ตามแผน PDP ที่จะมีทั้งสิ้น 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 700 เมกะวัตต์นั้น โดยตามกำหนดจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 66 และ 67 เบื้องต้นรมว.พลังงาน ได้สั่งการกกพ. เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งกกพ.กำลังเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมคือโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ของบมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็น IPP ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 63 รวมถึงการพิจารณาเรื่องเปิดประมูล แต่ทั้งนี้ต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีรายละเอียดมากขึ้นในสัปดาห์หน้า


แท็ก ค่าไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ