"ศุภวุฒิ" เสนอธปท.ลดดอกเบี้ยตามเฟด-ปล่อยเงินบาทแข็งค่าตามกลไกตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2008 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          "ศุภวุฒิ" เสนอแนะธปท.ใช้แนวทางปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด หยุดแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อปล่อยให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และในระยะยาวควรยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น เพราะไทยต้องการเงินลงทุนโดยตรงเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ มองการเมือง รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่าตัวรัฐมนตรี
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร (PHATRA) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ตามธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ได้ปรับลดไปแล้ว เนื่องจากการที่เศรษฐกิจไทยผูกติดกับเศรษฐกิจของสหรัฐ ดังนั้นเมื่อสหรัฐลดไทยก็ควรลดด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุล
นอกจากนี้ ธปท.ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด เพราะแนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่าลง จากการที่เฟดลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และตลาดคาดการณ์ว่าสิ้นปีอาจลดเหลือ 1% จากปัจุบันอยู่ที่ 3.50% ขณะที่ทางการสหรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาระบบ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
"ถ้าเราปล่อยให้เงินบาทแข็งไปเรื่อย ก็จะช่วยลดภาวะเงินเฟ้อ ก็สามารถลดดอกเบี้ยได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้" นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ในระยะยาว ธปท.ควรยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องการเงินลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะเงินลงทุนโดยตรงที่มาพร้อมเทคโนโลยี ซึ่งเงินเหล่านี้ต้องการความยืดหยุ่น
"แต่หากธปท.ยังมีมาตราการนี้อยู่ทำให้เป็นมาตรการขวางกั้น คงต้องรอเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยถึงจุดหนึ่งที่ไม่รู้ว่าต่อไปจะแข็งหรืออ่อน ทำให้ไม่เกิดการเก็งกำไร ส่วนเรื่องผู้ส่งออก คงต้องปรับตัวเพราะทิศทางดอลลาร์อ่อน บาทก็ต้องแข็ง จริง ๆ ปีนี้ควรปล่อยให้บาทแข็งถึง 10%" นายศุภวุฒิ กล่าว
สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยส่วนตัวมองว่า เรื่องมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ใช่เรื่องหลักที่ต้องทำ แต่ที่ต้องเร่งคือ เรื่องของนโยบายว่าจะเดินได้อย่างไร และสำคัญกว่าตัวรัฐมนตรี
ส่วนมาตรการคลังที่จะทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง นายศุภวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลยังคงทำได้ หากทำงบประมาณขาดดุล 2.5% ของจีดีพีติดต่อกัน 3 ปี ยังไม่ส่งผลลบต่อสถานะทางการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ