ก.พลังงาน คาดพีคหน้าร้อนปีนี้เพิ่มขึ้น 4.6% มาที่ 35,889 MW ช่วงปลายเม.ย.-ต้นพ.ค.,สนพ.รณรงค์มาตรการ 4 ป.ลดใช้ไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2019 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) สำหรับช่วงฤดูร้อนในปีนี้อยู่ที่ระดับ 35,889 เมกะวัตต์ (MW) โดยจะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค.62 เพิ่มขึ้น 4.6% จากพีคปีก่อนที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 เวลา 13.51 น.หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนปีนี้จะอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง 1 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่อาจเติบโตขึ้น ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ถึงกลางเดือน พ.ค.62 และสภาพอากาศที่แปรปรวน

สำหรับสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าในเดือน ม.ค.62 มีกำลังผลิตในระบบไฟฟ้าไทยอยู่ที่ 56,034 เมกะวัตต์ และมีการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 18,939 GWh ลดลง 0.3% โดยมีสัดส่วนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติสูงสุด 57% ส่วนสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 17,600 GWh เพิ่มขึ้น 1.6% โดยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในสาขาเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งภาคธุรกิจ บ้านอยู่อาศัย ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในกลุ่ม ISP มีสัดส่วนถึง 13% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

โดยสาขาอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 40% การใช้ลดลง 1.1% ตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขณะที่สาขาธุรกิจมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% การใช้เพิ่มขึ้น 7.3% ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า 3.0% อพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ 11.8% และโรงแรม 2.9%

"การใช้ไฟฟ้าในส่วนของโรงแรมเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการแข่งขันในธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่าสำหรับชาวต่างชาติใน กทม.และสาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 20% การใช้เพิ่มขึ้น 14.6% คาดว่าเป็นผลมาจากการหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่" นายสราวุธ กล่าว

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมมาตรการสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงาน และขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านมาตรการ 4 ป."ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน" เพื่อช่วยลดพีคไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนปริมาณและลักษณะการใช้ไฟฟ้าให้สมดุลกับการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5

ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวว่า กรณีผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ประเทศเมียนมา มีแผนหยุดการผลิตบางส่วนเพื่อปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประจำปี ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2562 รวมระยะเวลา 7 วันนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บมจ.ปตท.(PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว

เบื้องต้น ปตท.เจรจาให้ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งอื่นดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว กลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยรวมอยู่ในระดับลดลง ส่งผลให้ กฟผ. ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทน รวมทั้งไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งแต่อย่างใด

ส่วนทางกฟผ. หลังทราบข่าวจาก ปตท. ได้เตรียมมาตรการรองรับ โดยลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากลุ่มที่ใช้ก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยี่ และเตรียมเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติฝั่งอ่าวไทย ทำหน้าที่เดินเครื่องหลัก เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง แต่ทั้งนี้ ขอความร่วมมือ

ขณะที่นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ กฟผ. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้านั้น กฟผ.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบ ทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ., IPP และ SPP ให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนงานที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง โดยในช่วงฤดูร้อนปีนี้จะมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอสำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท.ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.มีความพร้อมใช้งานเต็มความสามารถ โดยงดทำงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า และอุปกรณ์ในระบบส่งที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว

"ขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่า กฟผ.จะดูแลระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้การใช้ไฟฟ้าในระบบไม่สูงจนเกินไป" นายจรรยง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ