แบงก์ออมสิน เผยผลสำรวจการใช้สอยช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปชช.ฐานรากลดลงจากปีก่อน 2.2% หลังค่าครองชีพสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2019 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 16,130 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 2.2% ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนฐานรากเห็นว่ามีค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,670 บาท โดยเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนปรับลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยเนื่องจากประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพราะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในภาพรวมประชาชนฐานรากมีการทำกิจกรรมและการใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีก่อนโดยมีค่าใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรมสูงขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นการซื้อของให้ตนเอง/ผู้อื่นและการท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละกิจกรรมลดลง ทั้งนี้ พบว่ามีการทำกิจกรรมสังสรรค์ เลี้ยงฉลองและเดินทางกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ และค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์กับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งมีรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับเท่าเดิม (57.2%) และ (66.6%) ตามลำดับโดยกลุ่มตัวอย่างบางส่วนได้รับผลกระทบจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ลดลงเนื่องจากไม่มีการจ้างงาน/ใช้บริการ

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่ง มาจากรายได้ (67.4%) เงินจากคนในครอบครัว (17.9%) เงินออม (10.4%) เงินสวัสดิการจากภาครัฐ (3.3%) และเงินกู้ยืม (1.0%) อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินที่นำมาใช้จ่าย โดยมีการบริหารเงินร่วมกับคนในครอบครัวและใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจากสวัสดิการภาครัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ลดลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ