พาณิชย์ เปิดระบายข้าวในสต็อกล็อตสุดท้าย 4.1 หมื่นตัน ภายในพ.ค., คงเป้าส่งออก 10 ล้านตัน แม้ยอดล่าสุดวูบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2019 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะรองประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเปิดชี้แจงการประมูลข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/62 ประมาณ 41,000 ตันว่า แบ่งเป็น การจำหน่ายเป็นการทั่วไป (กลุ่ม 1 สำหรับคนบริโภค) 13,635.41 ตัน, จำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่ม 2 ข้าวเสื่อมที่คนบริโภคไม่ได้) 15,329.75ตัน และจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่ม 3) 13,259.36 ตัน

สำหรับข้าวที่นำมาเปิดประมูลในครั้งนี้ กลุ่ม 1 มาจาก 6 คลัง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี โดยเป็นคลังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ทั้งหมด ประกอบด้วยข้าวขาว 5% และปลายข้าว A1 เลิศ ส่วนกลุ่ม 2 จำนวน 1 คลัง ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคลังของ อคส. เป็นปลายข้าว A1 เลิศ และกลุ่ม 3 จำนวน 1 คลัง ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคลังของ อคส. ประกอบด้วยข้าวขาว 5% และปลายข้าว A1 เลิศ โดยหลังจากทราบผลผู้ชนะการประมูลแล้ว จะนำผลการประมูลเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่าน่าจะภายในสิ้นเดือนพ.ค.62

โดยจะเปิดให้ผู้สนใจตรวจสอบข้าวได้จนถึงวันที่ 3 พ.ค.62 และให้ยื่นซองคุณสมบัติวันที่ 10 พ.ค.62 สำหรับข้าวกลุ่ม 1 และวันที่ 7 พ.ค.62 สำหรับข้าวกลุ่ม 2 และ 3 โดยจะประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 10 พ.ค.62 สำหรับกลุ่ม 1 และให้ยื่นซองเสนอซื้อและเปิดซองเสนอซื้อในวันเดียวกัน ส่วนกลุ่ม 2 และ 3 ประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 14 พ.ค.62 และยื่นซองเปิดซองในวันเดียวกัน

นางมนัสนิตย์ กล่าวว่า หากประมูลข้าวครั้งนี้หมด จะยังเหลือข้าวในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อคส. อีกประมาณ 209,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวที่มีปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าคลัง ทั้งไม่มีสัญญาเช่า หรือถูกยกเลิกสัญญาเช่า อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง และส่วนใหญ่เป็นข้าวสำหรับคนบริโภค และเข้าสู่อุตสาหกรรม โดย นบข.ได้มอบหมายให้ อคส.ไปจัดทำแนวทางการระบายข้าว และให้นำเสนอ นบข. พิจารณาด้วย

ส่วนการส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 26 เม.ย.62 มีปริมาณ 3.05 ล้านตัน ลดลง 13% มูลค่า 1,587 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.66% เนื่องจากไทยไม่มีข้าวเพื่อส่งออก หลังจากผลผลิตข้าวนาปรังมีน้อย และกว่า 60% ผลผลิตออกไปแล้ว ประกอบกับ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากที่อื่นทดแทน โดยราคาข้าวหอมมะลิของไทย อยู่ที่ตันละ 1,146 เหรียญฯ ข้าวขาว 5% ตันละ 407 เหรียญฯ ส่วนราคาข้าวของเวียดนาม ข้าวขาว 5% ตันละ 370 เหรียญฯ อินเดีย ตันละ 375 เหรียญฯ และปากีสถานตันละ 364 เหรียญฯ อย่างไรก็ตาม ทั้งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน แต่ผู้ส่งออกคาดว่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ