พาณิชย์ปรับรายการสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อใช้ 2562 เป็นปีฐาน เพื่อความทันสมัยต่อพฤติกรรมผู้บริโภค เริ่มใช้ ม.ค.64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer prices index) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "เงินเฟ้อ" (Inflation) อยู่ระหว่างดำเนินการปรับเปลี่ยนปีฐาน จากปี 2558 เป็นปี 2562 เพื่อให้รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อหรือตระกร้าเงินเฟ้อมีความทันสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลให้มากที่สุด

ในการปรับเปลี่ยนปีฐานดังกล่าว เป็นไปตามแผนและมาตรฐานด้านดัชนีที่ต้องมีการปรับปรุงรายการสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อให้ทันสมัยทุกๆ 4 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศเป็นเวลา 12 เดือน และเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งผลจากการสำรวจครั้งนี้จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในหลายสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคค่อนข้างมาก ทำให้กระทบต่อตะกร้าเงินเฟ้อและการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดค่าครองชีพสำคัญของประชาชนในที่สุด

รองผู้อำนวยการ สนค. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตะกร้าเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้จากการสำรวจครัวเรือนล่าสุดในปี 2558 นั้น มีรายการสินค้าและบริการจำนวน 422 รายการ ประมาณ 10,078 ลักษณะจำเพาะ แบ่งเป็น 12 หมวดใหญ่ตามมาตรฐาน COICOP (Classification of Individual Consumption According to Purpose) ของ UN ซึ่งการสำรวจในปี 2562 นี้ คาดว่าจำนวนสินค้าและบริการอาจไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ชนิดสินค้าและบริการอาจเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อได้สัดส่วนการใช้จ่ายสินค้าและบริการสำหรับปีฐาน 2562 แล้ว จึงจะคัดเลือกลักษณะจำเพาะและแหล่งในการจัดเก็บสินค้าในแต่ละประเภทในแต่ละจังหวัดต่อไป

พร้อมทั้งจะพัฒนาแหล่งจัดเก็บเพื่อลดความซ้ำซ้อน (โดยเฉพาะร้านค้าปลีกทันสมัยและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) และเพิ่มแหล่งราคาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคให้มากขึ้น อาทิ แหล่งราคา Online ซึ่ง สนค. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางสถิติ คุณภาพข้อมูล และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

"การพัฒนาและปรับปรุงดังกล่าว จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อของประเทศไทย ที่มีการจัดทำและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม ทันสมัย และสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดที่สะท้อนเสถียรภาพด้านราคาและค่าครองชีพของประเทศได้ดียิ่งขึ้น เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน" นางสุรีย์พรกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้ย้ำให้ประชาชนและผู้ใช้ข้อมูลเงินเฟ้อเข้าใจและตระหนักว่า แม้ตระกร้าเงินเฟ้อจะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับการบริโภค แต่ตระกร้าเงินเฟ้อดังกล่าว ก็เป็นเพียงตัวแทนสินค้าและบริการที่คนส่วนใหญ่บริโภคและจัดทำขึ้นตามมาตรฐานดัชนีเท่านั้น มิใช่สินค้าและบริการทั้งหมดที่ประชาชนบริโภค ดังนั้น อาจมีสินค้าและบริการบางรายการที่ผู้บริโภคส่วนน้อยรู้สึกว่ามีราคาสูงหรือต่ำสวนทางกับความรู้สึกทั่วไป โดยสินค้าและบริการดังกล่าวอาจมิได้อยู่ในตระกร้าเงินเฟ้อก็ได้ จึงอยากฝากให้ประชาชนและผู้ใช้ข้อมูลเข้าใจและตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย

"การปรับปรุงโครงสร้างและน้ำหนักปีฐาน จากปี 2558 เป็นปี 2562 ดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และจะทำการเผยแพร่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ ปีฐาน 2562 ของเดือนมกราคม 2564 ในวันทำการแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่อไป" รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ