"สมคิด" สั่งพาณิชย์ถกเอกชนวางแผนรับมือผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ ก่อนหารือเป้าส่งออก 31 พ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 14, 2019 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนครั้งล่าสุดจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญฯ ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงฯ เชิญนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน มาหารือเบื้องต้นก่อน เพราะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก่อนที่จะประชุมหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกต่อไป

ในเบื้องต้นอาจ คาดว่า สงครามการค้ารอบใหมทำให้มูลค่าส่งออกไทยไปประเทศต่างๆ ในปีนี้ลดลง 5,600-6,700 ล้านเหรียญฯ หรือ 2.2% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย จากปีนี้ที่กระทรวงตั้งเป้าหมายขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับปี 61 คิดเป็นมูลค่า 272,000 ล้านเหรียญฯ

สำหรับมูลค่าการส่งออกที่คาดจะลดลงนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณ 46% ซึ่งมูลค่าที่ลดลงคำนวณจากการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนที่คาดจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าไทยไปจีน และการส่งออกสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนไปตลาดอื่น ทั้งไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ที่คาดจะลดลง

"มูลค่าส่งออกที่ลดลงน่าจะทำให้ส่งออกไทยลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย 8% และยิ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากทั่วโลก ตามมาตรการเซฟการ์ดที่จะประกาศวันที่ 17 พ.ค.นี้อีกจะยิ่งทำให้มูลค่าส่งออกไทยลดลงได้อีก แต่คงลดลงไม่มากนัก สหรัฐฯ น่าจะเปิดให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ในสินค้ากลุ่มยานยนต์ขอยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีได้ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ จะขยายตัวได้เท่าไร ต้องรอผลการประเมินร่วมกับทูตพาณิชย์วันที่ 31 พ.ค.นี้ก่อน" นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้แล้ว โดยนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำแผนรุกตลาดในสินค้าศักยภาพลงลึก และเร่งพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเจรจาลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศต่างๆ, กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมมาตรการรุกการค้าชายแดนและการขายข้าว เป็นต้น

สำหรับเรื่องที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งว่าไทยอาจะเข้าข่ายเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินนั้น นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า จากข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐฯ ของไทย พบว่า อัตราการขยายตัวสูงขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่ผิดปกติจากอัตราแลกเปลี่ยน ตรงกันข้าม เงินบาทไทยค่อนข้างแข็งมากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ