ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คง GDP ปีนี้ 3.7% รอประเมินความเสี่ยงทั้งใน-ตปท. ชี้หากยืดเยื้ออาจกดดันศก.ไทยในภาพรวม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2019 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.7% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะส่งผลกระทบให้ GDP ทั้งปี 2562 ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9%

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2562 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จากประเด็นเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยการเมืองในประเทศ กล่าวคือ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังมีความเสี่ยงที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ซึ่งยังต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่คาดว่าจะมีการพบปะพูดคุยกันในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย. 2562

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลก ตลอดจนภาพรวมการส่งออกทั้งปีของไทย ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ระดับปัจจุบันที่ 3.2% (กรอบประมาณการ 2.5-3.5%)

ในขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาล คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป หากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นที่คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการงบประมาณประจำปี 2563 เพื่อให้มีเม็ดเงินงบประมาณที่จะใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่อง อันน่าจะเป็นภาพเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ 2.8% ต่อปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.2% ปัจจัยภายนอกส่งผลต่อการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing) ชะลอลงอย่างมากตามการหดตัวของการส่งออก ในขณะที่การชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ร้านอาหาร และค้าปลีกค้าส่งให้ชะลอตัวลงเช่นกัน

ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจากภาคเอกชน ยังเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเป็นบวก จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ยังขยายตัวในอัตราที่สูง ในขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ช่วยหนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ