(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย เม.ย.ส่งออกหดตัว -2.57% โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2019 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน เม.ย.62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 18,555 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.57% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -2.5% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,012 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.72% ขณะที่ดุลการค้าขาดดุล 1,457 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 80,543 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.86% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 79,993 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.08% ดุลการค้าเกินดุล 549 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือน เม.ย.62 ลดลง 2.57% ที่มูลค่า 18,555 ล้านดอลลาร์นั้นเป็นผลจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงตามวัฏจักรการค้า ประกอบกับปัจจัยชั่วคราวที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาค เช่น นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ตลาดสินเชื่อในจีน

"การส่งออกที่ติดลบราว 2.6% ในเดือนเมษายนนี้เป็นการหดตัวจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมถึงการส่งออกทองคำที่ชะลอตัวตามราคาทองคำที่ปรับลดลง" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.นี้ถือว่าต่ำสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.60

ทั้งนี้ การส่งออกไทยยังรักษาระดับการแข่งขันไว้ได้ และขยายตัวได้ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฮ่องกง รัสเซีย และแคนาดา สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น ผัก ผลไม้สดแข่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป, เครื่องดื่ม, ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในภาวะที่มีความท้าทายสูง การวางกลยุทธ์อย่างตรงจุดและผลักดันการขายตามความต้องการของตลาด จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสการส่งออกในหลายตลาดและสินค้า นอกจากนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศน่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่สนับสนุนการส่งออก คือ ภาพลักษณ์ของสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุก เจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่างๆ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

ผู้อำนวยการ สนค. มองว่า ความท้าทายต่อการส่งออกไทยในปีนี้ มีทั้งปัจจัยด้านวัฏจักรการค้าโลก ทำให้อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตวลง และปัจจัยชั่วคราวเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันเศรษฐกิจ เช่น นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐ และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายของภาครัฐในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

นอกจากนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวขึ้น เพื่อลดผลกระทบหากเกิดข้อพิพาททางการค้า

"ผู้ประกอบการหลายประเทศในขณะนี้ที่ประสบปัญหาจากสงครามการค้า นอกจากจะทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังให้ลูกค้าทำสัญญาระยะยาวมากขึ้นเป็น 1 ปี หรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อล็อคเรตไว้ ความผันผวนของค่าเงินเป็นเรื่องน่ากังวล เราจึงอยากให้ผู้ส่งออกได้คุยกับผู้นำเข้า เพื่อขอให้ทำสัญญาซื้อขายกันให้ยาวขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ส่วนการหารือกับภาคเอกชนถึงสถานการณ์สงครามการค้านั้น พบว่า ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐจัดตั้งวอร์รูมขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเพื่อให้สามารถประสานงานและประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันภาคเอกชน ยังเห็นควรว่าต้องปรับนโยบายการค้าและการลงทุนของประเทศให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น เนื่องจากมองว่าทิศทางการลงทุนในปัจจุบันยังไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เท่าที่ควร

"ในส่วนของนโยบายการลงทุนใน EEC ตอบโจทย์เพียงพอหรือไม่ เอกชนมองว่ายังไม่เร็วพอ และเห็นว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอน่าจะเข้ามาช่วยได้เร็วกว่า เพราะฉะนั้นก็จะต้องหารือกันต่อไป...แต่ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยเท่านั้น การออกไปลงทุนในต่างประเทศก็ต้องเพิ่มความสำคัญให้มากขึ้น เราต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ภาคเอกชนเห็นว่าต้องปรับพอร์ตฟอลิโลประเทศในเรื่องการค้าการลงทุนให้ไปด้วยกันมากขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ เพื่อหารือถึงการผลักดันการส่งออกของไทยท่ามกลางผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งจะได้มีการประเมินสถานการณ์การส่งออกและทบทวนเป้าหมายการส่งออกสำหรับปีนี้ใหม่ จากในปัจจุบันที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตได้ 8%

อย่างไรก็ดี หากจะทำให้การส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบ ก็จะต้องทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.62) ได้ไม่ต่ำกว่า 21,500 ล้านดอลลาร์

"เราไม่คิดว่าการส่งออกในปีนี้จะสดใส เพราะปัจจัยเสี่ยงมันเยอะ แต่ยังเชื่อมั่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ผลกระทบจากสงครามการค้าเกิดขึ้นเร็ว ส่งผลให้การส่งออกไทยลดลง แต่ผู้ประกอบการก็ยังปรับตัวเองได้ไว ถือว่าเรามีภาคการส่งออกที่ยืดหยุ่น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ