กกร.จ่อปรับลดคาดการณ์ส่งออก GDP ไทยปีนี้ เสนอภาครัฐตั้งวอร์รูมเกาะติด Trade War

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2019 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนของ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รอบหน้าจะพิจารณาปรับคาดการณ์ส่งออกและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ตามสภาพข้อเท็จจริงต่อไป เนื่องจากผลกระทบสงครามการค้ากับไทย อาจทำให้การส่งออกของไทยปีนี้เหลืออยู่ประมาณ 0-1% เท่านั้น จากที่สำนักพยากรณ์ต่าง ๆ คาดว่าจะโต 3-5% โดยการส่งออกที่ลดลงส่งผลต่อ GDP ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะโตเหลือเพียง 3.4-3.5% จากครั้งล่าสุดที่กกร.ประเมินไว้ที่ 3.7-4.0%

แต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดปีนี้ หากสถานการณ์สงครามการค้าบานปลายมากกว่านี้ เช่น สหรัฐฯ ประกาศตอบโต้ทางการค้าจีนเพิ่มอีก 320,000 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมสินค้าทุกรายการที่จีนส่งไปขายสหรัฐฯ ประกอบกับล่าสุดบริษัท ARM ของอังกฤษผู้ถือหุ้นใหญ่คือซอฟแบงก์ญี่ปุ่นประกาศว่า จะไม่ออกแบบและผลิตชิปที่ทันสมัยให้กับ "HUAWEI" เท่ากับการพัฒนาที่พึ่งพาคนอื่นชะงัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังปรับตัวทั่วโลก สงครามการค้าทำให้บรรยากาศทางการค้าลดลง ประเทศไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตก็ได้รับผลกระทบแน่นอน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ส่งผลกระทบไปทั่วและประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเกือบ 70% ของ GDP โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 12% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 10% รวม 2 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 23% อีก 25% เป็นการส่งออกไปอาเซียน ที่เหลือคืออื่นๆ

สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ, กึ่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อนำไปผลิตต่อหรือประกอบต่อเพื่อใช้ในประเทศ ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 62

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบล่าสุด 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ครอบคลุมสินค้า 5 พันรายการ ขณะเดียวกันจีนก็ตอบโต้สหรัฐฯโดยการขึ้นภาษี 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองกรณีมีทั้งผลบวกและผลลบต่อไทย

ผลบวกคือ สินค้าบางประเภทที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนเป็นรายใหญ่ที่สุด เช่น เนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้ ข้าว ถั่วเหลือง ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะได้ขยายไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันถ้ามีสินค้าที่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีนได้ ทางสหรัฐฯก็คงมาซื้อกับไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังสำรวจและประชุมศึกษาร่วมกับทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ

นอกจากนี้ผลดีในแง่อื่นๆ ขณะนี้มีการย้ายฐานผลิตมาไทยและประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายหลักเพราะเรามีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีสิทธิประโยชน์มากมายที่จะดึงดูดการลงทุน แต่ก็ต้องระมัดระวังเนื่องจาก EEC เรามุ่งเน้นอุตสาหกรรม New S curve และใช้ Hi-Technology เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมบางประเภทของจีนอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ใน EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบางประเภทที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ จึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีความห่วงเรื่องสินค้าบางรายการที่จีนส่งออกไม่ได้อาจจะทะลักเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ สินค้าที่มีการค้าขายทางออนไลน์ เช่น อาลีบาบา Shopee, การนำเข้าของผู้ประกอบการเพื่อทดแทนการผลิตเนื่องจากผลิตแล้วไม่คุ้มทุน และสินค้าที่ลักลอบเข้ามาทางชายแดน ซึ่งต้องเฝ้าระวังและควบคุมให้ดีเมื่อไม่ให้กระทบผู้ประกอบการในประเทศ

นายเกรียงไกร ยังฝากเตือนให้ภาครัฐระมัดระวังดูแลไม่ให้การย้ายฐานการผลิตของจีนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อสวมสิทธิผลิตสินค้าส่งออกไปขายสหรัฐฯ ต้องมีไม่มากจนเกินไป เพราะสหรัฐฯอาจพิจารณาตอบโต้ทางการค้ากับไทยได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย มีการส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯมากกว่านำเข้า ไทยจึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐอยู่แล้วและมากเป็นอันดับที่ 11-12 อยู่แล้ว

แม้ว่าขณะนี้ไทยต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน ผ่านการเชิญชวนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่ให้เข้ามาในพื้นที่ EEC ซึ่งขณะนี้นักลงทุนหลายๆ ประเทศรอความชัดเจนการเมืองไทยอยู่ แต่สำหรับนักลงทุนจีนไม่รอที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตส่งออก ซึ่งการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเศรษฐกิจภาคการลงทุนดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องสมดุลของการเข้ามาลงทุนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ